ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดที่ 34,364.50 จุด เพิ่มขึ้น 99.13 จุด หรือ +0.29% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,410.13 จุด เพิ่มขึ้น 12.19 จุด หรือ +0.28% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,855.13 จุด เพิ่มขึ้น 86.21 จุด หรือ + 0.63%
ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ดีดตัวขึ้นปิดในแดนบวกเนื่องจากนักลงทุนเข้าช้อนซื้อในช่วงท้ายตลาด หลังจากดัชนีหลักทั้ง 3 ดัชนีทรุดตัวลงอย่างหนักในระหว่างวัน โดยเฉพาะดัชนีดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 1,000 จุด
มาร์โค โคลาโนวิค นักวิเคราะห์จากเจพีมอร์แกน ได้แสดงความเห็นว่า "การทรุดตัวของสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงที่ผ่านมานั้นอาจจะยุติลงแล้ว เมื่อพิจารณาจากสัญญาณบ่งชี้ทางเทคนิคที่ระบุว่าตลาดได้เข้าสู่เขต "Oversold" และบรรยากาศการซื้อขายสู่ภาวะหมี (Bear Market) ซึ่งหมายความว่าเราอาจจะอยู่ในช่วงท้ายของการปรับฐาน (Correction)
นักวิเคราะห์ยังกล่าวด้วยว่า แรงเทขายอาจจะมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว เมื่อดูจากดัชนีความผันผวน CBOE หรือ CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท พุ่งขึ้นแตะระดับ 38.47 เมื่อคืนนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2563 โดยหากดัชนีความผันผวนพุ่งขึ้นทะลุระดับ 38 แล้ว ตลาดก็มีแนวโน้มที่จะดีดตัวขึ้น
ในระหว่างวันนั้น หุ้นทั้ง 11 กลุ่มที่คำนวณในดัชนี S&P500 เคลื่อนไหวในแดนลบ แต่ในช่วงปิดตลาด มีหุ้น 3 กลุ่มที่ปิดในแดนบวก นำโดยหุ้นกลุ่มสินค้าผู้บริโภค
นักลงทุนจับตาสถานการณ์ตึงเครียดในยูเครนอย่างใกล้ชิด หลังมีรายงานว่าสหรัฐและอังกฤษได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทูตรวมทั้งครอบครัวเร่งอพยพออกจากยูเครน ขณะที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ประกาศเสริมกำลังทหารทั้งทางบก ทะเล และทางอากาศตามพรมแดนฝั่งตะวันออก เนื่องจากมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่รัสเซียอาจทำการโจมตียูเครนในไม่ช้า
ทางด้านรัสเซียตรึงกำลังทหารเกือบ 100,000 นายประชิดชายแดนยูเครน ขณะที่การเจรจาระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกยังคงไม่มีความคืบหน้า
นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูผลการประชุมเฟดซึ่งจะมีการแถลงในวันพุธที่ 26 ม.ค.ตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าตรู่วันของพฤหัสบดีที่ 27 ม.ค.ตามเวลาไทย ขณะที่โกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 4 ครั้งในปีนี้ และจะเริ่มปรับลดขนาดงบดุลในเดือนก.ค.หรือเร็วกว่านั้น จากปัจจุบันที่พุ่งสูงกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ ไอเอชเอส มาร์กิตรายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.8 ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 18 เดือน จากระดับ 57.0 ในเดือนธ.ค.
อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว แต่ก็ใกล้หลุดระดับ 50 ซึ่งจะบ่งชี้ภาวะหดตัว