นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล (บอร์ดสลากฯ) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการให้จัดทำระบบจำหน่ายสลากผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ ภายใต้ชื่อ “แพลตฟอร์มจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล (Digital Lottery)” เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลาง ให้ผู้ค้าที่มีโควตาสลากฯ ในมือ สามารถนำสลากมาฝากจำหน่ายบนแพลตฟอร์มนี้ได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งแพลตฟอร์มนี้ ธนาคารกรุงไทยจะเป็นผู้ทำระบบทั้งหมด โดยวันจันทร์ที่ 31 มกราคมนี้ จะนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสลากแพง ที่มีนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หลังจากนี้จะมีการรายงานความคืบหน้าให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) รับทราบต่อไป
สำหรับ “แพลตฟอร์มจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล (Digital Lottery)” ในเบื้องต้น จะให้ผู้ค้าที่มีโควตาลงทะเบียนแสดงความจำนงขายสลากบนแพลตฟอร์มดังกล่าว โดยสำนักงานสลากฯ จะเป็นผู้เก็บสลากตัวจริงไว้ และเมื่อมีการกดซื้อสลากบนแพลตฟอร์มดังกล่าวแล้ว สลากเลขนั้นจะหมดไป โดยผู้ซื้อจะได้รับหลักฐานเป็นใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ข้อความทาง SMS ซึ่งช่องทางนี้ถือเป็นการเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายให้กับผู้ค้า โดยผู้ค้ายังสามารถใช้แท็ปเล็ตเพื่อเดินขายสลากบนแพลตฟอร์มดังกล่าวเองได้ด้วย และสามารถกำหนดราคาขายได้สูงสุด 80 บาท และหากใกล้วันออกรางวัลแล้วยังขายไม่หมด ก็สามารถปรับลดราคาขายให้ต่ำกว่า 80 ได้ นอกจากนี้ผู้ค้ายังสามารถเลือกได้ว่าจะฝากขายสลากบนแพลตฟอร์มกี่เล่มก็ได้ เช่น ทั้ง 5 เล่มตามโควตาที่ได้รับ หรือฝากขาย 3 เล่ม และอีก 2 เล่มใช้วิธีการเดินขายแบบเดิมก็ได้
“แพลตฟอร์มนี้ ตั้งใจให้ผู้ค้าที่มีโควตาอยู่และไปฝากขายบนแพลตฟอร์มอื่น ย้ายมาขายบนแพลตฟอร์มของ สนง.สลากให้หมด ซึ่งแพลตฟอร์มนี้นอกจากจะเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้ผู้ค้าแล้ว เมื่อมีการกดเลือกสลากเลขนั้นๆ เงินก็จะโอนเข้าบัญชีผู้ค้าโดยตรง โดยหักค่าใช้จ่ายใดๆ ขณะที่ผู้ซื้อก็สะดวกขึ้น และยังสามารถซื้อสลากเลขซ้ำกี่ใบก็ได้เท่าที่มีในระบบ และยังซื้อสลากได้ในราคา 80 บาท และเมื่อเริ่มใช้แพลตฟอร์มนี้เมื่อไหร่ หากยังตรวจพบว่าผู้ค้าไปฝากขายบนแพลตฟอร์มอื่น จะทำการตัดสิทธิโควตาทันที ซึ่งจะพยายามเร่งทำแพลตฟอร์มให้แล้วเสร็จ เพื่อจำหน่ายให้ทันงวดวันที่ 2 พ.ค.65 ” นายลวรณ กล่าว
นายลวรณ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้มีตัดสิทธิผู้ค้าที่นำสลากฯ ไปฝากขายบนแพลตฟอร์มอื่น โดยเป็นการตัดสิทธิผู้ซื้อจองแล้วกว่า 3,000 ราย และตัดสิทธิผู้ที่มีโควตาไปแล้ว 6,000 ราย รวมแล้วกว่า 9,000 ราย ซึ่ง สนง.สลาก ยังเปิดโอกาสให้กลุ่มนี้ยังสามารถลงทะเบียนรับสิทธิผู้ซื้อจองได้ แต่หากพบว่ายังมีการทำผิดอีกครั้ง จะทำการตัดสิทธิและขึ้นแบล็กลิสต์หรือบัญชีดำทันที
ขณะที่ความคืบหน้าการเปิดลงทะเบียนผู้ซื้อจองสลากกินแบ่งรายใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาสลากเกินราคาใบละ 80 บาท หลังเปิดลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 เป็นต้นมา ซึ่งล่าสุด ณ วันที่ 27 ม.ค. 2565 มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 878,000 ราย ถือว่าเกิดความคาดหมาย จากที่คาดว่าจะมีผู้มาลงทะเบียนประมาณ 400,000 - 500,000 ราย ดังนั้นคาดว่าเมื่อสิ้นสุดการลงทะเบียนวันที่ 31 ม.ค. นี้ จะมียอดการลงทะเบียนซื้อจองผู้ค้าสลากรายใหม่ประมาณ 1 ล้านราย ซึ่งหลังปิดลงทะเบียน จะเข้าสู่กระบวนการคัดกรองเพื่อให้ได้ผู้ค้าสลากตัวจริง 200,000 ราย โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน
“หลังปิดลงทะเบียนการซื้อจองวันที่ 31 มกราคม 65 จะเข้าสู่กระบวนการคัดกรองผู้ค้าตัวจริง โดยใช้เวลาประมาณ 2 เดือน โดยจะมีมาตรการให้สังคมช่วยตรวจสอบ ส่วนจะวิธีใดนั้นจะมีการสรุปในการประชุมบอร์ดครั้งหน้า อย่างไรก็ตามจะเดินหน้าตามขั้นตอนเพื่อให้ทันสำหรับรางวัลงวดแรกวันที่ 2 พ.ค.65” นายลวรณ กล่าว
นายลวรณ กล่าวย้ำว่า แม้จะมีผู้มาลงทะเบียนสูงกว่าโควต้าที่ตั้งไว้ 2 แสนราย ก็จะไม่มีการพิจารณาขยายโควตารับซื้อจอง รวมทั้งจะไม่พิมพ์สลากเพิ่ม เพราะหากเพิ่มโควตามากกว่า 2 แสนราย จะยิ่งส่งผลให้เกิดการแข่งขันในระบบซื้อจองมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังต้องรอผลจากการคัดกรองอีกครั้งว่าผู้ที่มาลงทะเบียนจะผ่านการคัดกรองคุณสมบัติทั้งหมดกี่ราย
ส่วนความคืบหน้าการเปิดลงทะเบียนผู้ค้าโครงการสลาก 80 บาท ขณะนี้ได้ปิดการลงทะเบียนแล้ว พบว่า มีผู้สนใจมาลงทะเบียนทั้งสิ้น 4,790 ราย ซึ่งสูงกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ที่ 1,000 จุด โดย สนง.สลากได้วางเป้าหมายให้มีร้านที่เข้าร่วมโครงการ อำเภอละ 1 จุดทั่วประเทศ ซึ่งมีอยู่ 928 อำเภอทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามจากจำนวนผู้ค้าที่มาลงทะเบียน พบว่า มีผู้ค้าลงทะเบียนเข้าโครงการ 691 อำเภอ และมีอำเภอที่ไม่มีผู้ลงทะเบียนเข้าโครงการ 237 อำเภอ
ทั้งนี้ นายลวรณ ได้ย้ำว่า สนง.สลาก จะเพิ่มความเข้มงวดการรับสลากฯ ที่หน้าทำการไปรษณีย์ของผู้ที่ซื้อจองสลากแต่ละงวด เพื่อแก้ปัญหาการขายช่วง และสวมสิทธิเข้ารับสลาก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการจำหน่ายสลากฯเกินราคา โดย สนง.สลากจะตั้งทีมเจ้าหน้าที่ สนง.สลาก ร่วมกับ สนง.ตำรวจแห่งชาติ ลงพื้นที่กวดขันเข้มงวดและต่อเนื่อง โดยจะไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า รวมทั้งจะเพิ่มความเข้มงวดในการรับสลากฯ โดยผู้ซื้อจองจะต้องยืนยันตัวตนก่อนรับเล่มสลากฯทุกคร้้ง