เงินบาทวันนี้อยู่ที่ 33.20-33.40บาท/ดอลลาร์ หลังเปิดเช้านี้ที่ 33.30 บาท

28 ม.ค. 2565 | 01:00 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ม.ค. 2565 | 08:46 น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ "อ่อนค่า"แนวโน้มยังผันผวน หลังดอลลาร์สหรัฐพลิกกลับมาแข็งค่าต่อเนื่อง มองแนวต้านอาจอยู่ในโซน 33.30-33.50 บาทต่อดอลลาร์ เตือนระยะสั้น นักลงทุนควรระมัดระวัง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.30 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.20 บาทต่อดอลลาร์ เตือนระยะสั้นนี้ นักลงทุนควรระมัดระวัง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน

 

นายพูน   พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนและอาจอ่อนค่าลง หลังเงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ sentiment การลงทุนในตลาดไม่สดใส อาจหนุนให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยได้บ้าง

 

แต่เราก็มองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมากนัก เพราะตลาดหุ้นไทยยังมีสัดส่วนหุ้นในกลุ่ม Cyclical ทั้งกลุ่มพลังงานและการเงินที่มาก ในขณะที่หุ้นกลุ่มเทคฯ มีไม่เยอะ ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังได้รับอานิสงส์จากธีมการลงทุนหุ้น Cyclical ต่อได้


 

ทั้งนี้ แนวต้านของเงินบาทอาจอยู่ในโซน 33.30-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราคาดว่าจะเห็นฝั่งผู้ส่งออกต่างทยอยขายเงินดอลลาร์มากขึ้น

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.20-33.40 บาท/ดอลลาร์

 

ตลาดการเงินโดยรวม โดยเฉพาะในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงผันผวนและเผชิญแรงเทขายจากความกังวลแนวโน้มเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่าคาด ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลดลงกว่า -1.40% ส่วนดัชนี S&P500 ย่อตัวลง -0.54% ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้เล่นในตลาดฝั่งสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง

 

โดยเรามองว่า ตลาดฝั่งสหรัฐฯ อาจต้องรอให้ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนประกาศออกมาพอสมควร เช่น เกิน 70% ก่อน ซึ่งถ้าหากผลประกอบการออกมาเติบโตต่อเนื่องและดีกว่าคาด ก็อาจช่วยพยุง sentiment ของตลาดให้ทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยงได้เช่นกัน

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นต่อราว +0.49% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มการเงินและพลังงาน อาทิ Eni +2.4%, Santander +2.1% ในขณะที่ หุ้นเทคฯ ยุโรปพลิกกลับมาปรับตัวลงหนัก ตามหุ้นเทคฯ สหรัฐฯ นำโดย SAP -6.0%, ASML -1.3%

 

ในระยะสั้นนี้ นักลงทุนควรระมัดระวัง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่อาจบานปลายสู่สงคราม อาจยังคงกดดันให้ตลาดหุ้นยุโรปผันผวนต่อได้ อย่างไรก็ดี เรามองว่า หากตลาดหุ้นยุโรปมีการปรับฐานลงมาต่อ ก็จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนทยอยเข้าสะสมการลงทุนในยุโรปเพื่อรอลุ้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังการระบาดโอมิครอนมีสัญญาณว่าจะเริ่มสงบลงได้

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ แนวโน้มเฟดอาจเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากกว่าคาดได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในช่วงแรกแตะระดับเกือบ 1.88% ทว่า ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ได้หนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวเพื่อหลบความผันผวน ส่งผลให้ท้ายที่สุด บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงแตะระดับ 1.81% สอดคล้องกับ มุมมองของเราที่มองว่า ในระยะสั้น ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ที่อาจจะมาจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่คอยกดดันไม่ให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวสามารถปรับตัวขึ้นไปมากได้ จนกว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะคลี่คลายลง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจรอจังหวะยีลด์ขึ้น เพื่อ buy on dip ขณะที่บอนด์ยีลด์ระยะสั้น อย่าง บอนด์ยีลด์ 2 ปี สหรัฐฯ ก็ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและทรงตัวในระดับ 1.19% ต่อได้ จากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มคาดว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ราว 5 ครั้งในปีนี้

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยแนวโน้มเฟดอาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากกว่าคาด ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดยังคงต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงและผันผวนหนัก ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 97.25 จุด ซึ่งเป็นการแข็งค่าหนักที่สุดตั้งแต่ช่วงกลางปี 2020

 

ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์นั้นได้กดดันให้ สกุลเงินหลักต่างปรับตัวลดลงใกล้กับจุดต่ำสุดในช่วงตลาดกังวลการระบาดของโอมิครอนอีกครั้ง อาทิ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าแตะระดับ 1.114 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็อ่อนค่าลงแตะระดับ 115.4 เยนต่อดอลลาร์ ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องมากกว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี ญี่ปุ่น (โดยปกติ ส่วนต่างยีลด์สหรัฐฯ-ญี่ปุ่นกว้างมากขึ้น จะกดดันให้เงินเยนอ่อนค่าลง)

 

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นและความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย ได้กดดันให้ราคาทองคำเผชิญแรงขายหนักและปรับตัวลงแตะระดับ 1,796 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือใกล้แนวรับสำคัญในโซน 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง

 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตารายงานข้อมูลเงินเฟ้อ PCE ในฝั่งสหรัฐฯ โดยคาดว่า เงินเฟ้อทั่วไป PCE ของสหรัฐฯในเดือนธันวาคมมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 5.8% ซึ่งปัญหาเงินเฟ้อที่อาจอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด ทำให้เฟดเริ่มส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ

 

นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนก็อาจเริ่มมีผลต่อตลาดการเงินมากขึ้น หลังจากที่ตลาดได้รับรู้ผลการประชุมเฟดล่าสุดไปแล้ว โดยหากผลประกอบการสามารถขยายตัวดีขึ้นกว่าคาด ก็อาจพอช่วยพยุง sentiment ของตลาดได้บ้าง แต่โดยรวมตลาดอาจยังคงผันผวนเนื่องจากยังคงมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.26-33.32 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังคงได้รับอานิสงส์จากกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะคุมเข้มนโยบายการเงินมากกว่าที่เคยส่งสัญญาณไว้ ประกอบกับมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ จีดีพีไตรมาส 4/2564 ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดด้วยเช่นกัน

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.10-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19 ข้อมูลรายได้/รายจ่ายส่วนบุคคล อัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจาก Core PCE Price Index เดือนธ.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค.ของสหรัฐฯ