ธอส. คว้า 6 รางวัล รัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 64

31 ม.ค. 2565 | 03:26 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ม.ค. 2565 | 10:31 น.

ธอส.คว้า 6 รางวัล รัฐวิสาหกิจดีเด่นประจำปี 2564 เผยเดินหน้าทำตามพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ชี้แม้เผชิญวิกฤตโควิด-19 ในปี 64 ยังปล่อยสินเชื่อใหม่ได้กว่า 2.4 แสนล้าน สูงกว่าเป้า 14.48% และช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ผ่าน 20 มาตรการ กว่า 975,000 บัญชี

วันนี้ (31 มกราคม 2565) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประธานในพิธีมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2564 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้มอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น (SOE Award) ประจำปี 2564 ให้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จำนวน 6 รางวัล

 

โดยนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า รางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2564 ทั้ง 6 รางวัล เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพสูงของธนาคารอาคารสงเคราะห์ในการดำเนินงานของคณะกรรมการ ผู้บริหารระดับสูง และผู้ปฏิบัติงานของ ธอส. ทั้ง 5 พันชีวิต ที่มุ่งมั่นในการดำเนินงานตามพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน”  ถึงแม้ว่าในปี 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จะยังคงรุนแรง แต่ ธอส. ก็สามารถปรับตัวและสนับสนุนนโยบายรัฐบาล และกระทรวงการคลัง ในการดูแลประชาชนให้มีที่อยู่อาศัย

 

ด้วยการปล่อยสินเชื่อใหม่ได้รวม 246,875 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 14.48% เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 9.65% ขณะเดียวกันยังสามารถดูแลช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 อย่างต่อเนื่องผ่าน 20 มาตรการ ที่มีจำนวนลูกค้าได้รับความช่วยเหลือรวมกว่า 975,000 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 847,000 ล้านบาท รวมถึงพัฒนาบริการดิจิทัลอย่างต่อเนื่องเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการลูกค้าตามวิถีชีวิตปกติใหม่(New Normal) และความสำเร็จในด้านต่าง ๆ นำมาซึ่งรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2564 ทั้ง 6 รางวัล โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. รางวัลการบริหารจัดการองค์กรดีเด่น (ดีเด่น) เป็นรางวัลที่มอบให้แก่รัฐวิสาหกิจที่ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการองค์กรในเรื่อง การกำกับดูแลที่ดีและการนำองค์กร การวางแผนเชิงกลยุทธ์ การบริหาร ความเสี่ยงและการควบคุมภายใน การมุ่งเน้นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้า การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล การบริหารทุนมนุษย์ การจัดการความรู้และนวัตกรรม และการตรวจสอบภายใน รวมทั้งนำนโยบาย Thailand 4.0 มาเพิ่มประสิทธิภาพให้องค์กรมีขีดความสามารถในการบริหารจัดการ และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี

 

2. รางวัลการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสดีเด่น เป็นรางวัลที่มอบให้กับรัฐวิสาหกิจที่มีผลการดำเนินงานด้านการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส โดยพิจารณาจากรายงานความยั่งยืน รายงานประจำปี และรายงานผลการดำเนินงานทั้งการเงินและไม่ใช่การเงินของธนาคาร

 

3.รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านความคิดสร้างสรรค์ ประเภทดีเด่น มอบให้แก่รัฐวิสาหกิจที่มีผลงานความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์สอดคล้องกับความต้องการขององค์กร ทั้งลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ โดย ธอส.ได้รับรางวัลจาก “โครงการ GHB Appraisal Valued Model by AI" ซึ่งเป็นการยกระดับกระบวนการประเมินราคาหลักประกันในการขอสินเชื่อของธนาคาร โดยการพัฒนาแบบจำลอง (Model) ในการประเมินราคาหลักประกัน ซึ่งนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) หรือระบบประมวลผลที่มีการวิเคราะห์เชิงลึกมาใช้ในการสร้างแบบจำลองการวิเคราะห์แบบอัตโนมัติ

4. รางวัลความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาดีเด่น ประเภทเชิดชูเกียรติ เป็นรางวัลที่มอบให้รัฐวิสาหกิจที่มีความร่วมมือในเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกันตามพันธกิจของรัฐวิสาหกิจ  โดย ธอส.และองค์การสะพานปลา(อสป.) ได้จับมือกันจัดทำ “โครงการโรงเรียนการเงิน ธอส. – อสป.เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต” โดยมีกลุ่มเป้าหมายได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจประมง  เพื่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

 

5. รางวัลบริการดีเด่น  โดย ธอส. มีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ที่มุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้า ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมายกระดับการให้บริการกับลูกค้าและประชาชนให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19

 

6. รางวัลความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมดีเด่น ด้านนวัตกรรม ประเภทชมเชย มอบให้แก่รัฐวิสาหกิจที่มีผลงานนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ บริการ หรือกระบวนการดำเนินงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและใช้ประโยชน์ในองค์กรได้จริง โดย ธอส.ได้รับรางวัลจาก “โครงการ GHBank Smart  NPA Mobile Application" ซึ่งเป็นการพัฒนา Application สำหรับการประมูลบ้านที่ครอบคลุมตั้งแต่การแสดงทรัพย์ที่จะมีการประมูล เสนอราคาและแสดงผลการประมูล และสามารถบันทึกทรัพย์ที่สนใจ โดยได้นำมาใช้ช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19  ที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตปกติใหม่ (New Normal) ของประชาชน

 

ทั้งนี้ สคร. ได้จัดให้มีงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่นตั้งแต่ปี 2548 เพื่อประกาศให้สาธารณชนได้ทราบถึงผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจที่ดีเด่นในด้านต่าง ๆ พร้อมกับเป็นกำลังใจให้กับรัฐวิสาหกิจทุกแห่งที่ทำภารกิจสนับสนุนการพัฒนาประเทศ และส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจมีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป โดยงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2564 จัดขึ้น ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล