กรมบังคับคดีผนึก 17หน่วยงาน จัด “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน”

17 ก.พ. 2565 | 00:33 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.พ. 2565 | 07:33 น.

กรมบังคับคดีผนึก 17สถาบันเจ้าหนี้โหมโปรโมชั่น ปลดล็อคลูกหนี้กลับสู่ระบบ ใน “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน” ครั้งที่ 1 ระหว่าง 25-26 ก.พ.65

กรมบังคับคดีผนึก 17สถาบันเจ้าหนี้โหมโปรโมชั่น ปลดล็อคลูกหนี้กลับสู่ระบบ หวัง ลดฟ้อง ชะลอบังคับคดี ใน “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน” ครั้งที่ 1 ระหว่าง 25-26 ก.พ.65 เดินหน้าเคลียร์หนี้ทรัพย์ค้างดำเนินการ 4แสนล้านบาท  เล็งจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยภูมิภาค ครั้งที่2 เดือนมี.ค.

 

ความพยายามครั้งล่าสุด ตามนโยบายรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาสะสมแทบจะฝั่งรากคู่สังคมไทย  เมื่อเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมลูกหนี้

 

นอกจากต้องแบกรับภาระเพิ่ม ที่สวนทางกับรายได้หายไปยิ่งส่งลดทอนความสามารถในการชำระหนี้   แม้ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ทยอยออกหลายมาตรการอย่างต่อเนื่อง เพื่อปิดช่องโหว่  หรือลดผลกระทบดังกล่าว

กรมบังคับคดีผนึก 17หน่วยงาน จัด “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน”

ล่าสุด กรมบังคับคดี  กระทรวงยุติธรรมบูรณาการกับ 17 สถาบันเจ้าหนี้จัด “ มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือนครั้งที่ 1”ระหว่างวันที่ 25-26 ก.พ.2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ภายใต้แนวคิด “มีหนี้ต้องแก้ไข รุกก้าวไปอย่างยั่งยืน”

กรมบังคับคดีผนึก 17หน่วยงาน จัด “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน”

          “ นางทัศนีย์ เปาอินทร์” อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภายในงานได้มีการประสานกับเจ้าหนี้แต่ละสถาบันเข้าร่วม 17 แห่ง และเชิญลูกหนี้ด้วยจำนวน  95,900ราย ทุนทรัพย์ 11,264ล้านบาท

 

แบ่งเป็นลูกหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในชั้นก่อนฟ้อง 48,590ราย ทุนทรัพย์  4,160ล้านบาทประกอบด้วยหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)  20,296 ราย บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล24,370ราย (5สถาบันการเงินเจ้าหนี้)และสินเชื่อรถยนต์  3,924ราย 

กรมบังคับคดีผนึก 17หน่วยงาน จัด “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน”

ที่เหลือเป็นหนี้หลังศาลมีคำพิพากษา 47,320ราย ทุนทรัพย์ 7,104ล้านบาทประกอบด้วยหนี้กยศ. 539ราย บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 46,153ราย(14สถาบันการเงินเจ้าหนี้)และสินเชื่อรถยนต์  628ราย(บริษัทโตโยต้า ประเทศไทยจำกัด และบริษัทบริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด)

ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรม โดยกรมบังคับคดีจะไกล่เกลี่ยลูกหนี้หลังศาลพิพากษา ส่วนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจะดูแลหนี้ก่อนฟ้อง ซึ่งทั้ง 2กรมได้บูรณาการจัดกิจกรรมนี้ขึ้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

 

ครอบคลุมทั้งหนี้กยศ.  เช่าซื้อรถยนต์  รถจักรยานยนต์  บัตรเครดิต  สินเชื่อส่วนบุคคลที่สำคัญได้แก้ไขปรับปรุงขั้นตอนยุติธรรมโดยเฉพาะประเด็นไกล่เกลี่ย

“ มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือนครั้งที่ 1 เปิดกว้างให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้มาพบกันและการไกล่เกลี่ยไม่ว่าก่อนฟ้องคดีหรือหลังฟัอง ต้องเกิดจากความสมัครใจ ทั้งสองฝ่าย ซึ่งกรมคาดหวังว่าจะเกิดข้อตกลงกันได้ภายในงาน

 

เพราะได้ประสานหน่วยงานเจ้าหนี้จัดโปรโมชั่นให้สิทธิพิเศษลูกหนี้ที่มาร่วมงาน  เช่น กยศ.พร้อมจะขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้  ลดเบี้ยปรับ ลดจำนวนเงินผ่อนชำระหนี้ งดยึดทรัพย์  งดขายทอดตลาด ลูกหนี้จะไม่ถูกบังคับคดี

 

ขณะเดียวกันหลายสถาบันการเงินเจ้าหนี้ก็ให้สิทธิพิเศษต่างๆ ขึ้นอยู่กับข้อเสนอและการพูดคุนระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้  เช่น ส่วนลดดอกเบี้ยตั้งแต่ 20% หรือบริษัทบัตรกรุงไทย(เคทีซี) สามารถลดดอกเบี้ยให้สูงสุด 100% หรือผ่อนชำระนานสูงสุด 36เดือน เป็นต้น”

 

อธิบดีกรมบังคับคดีกล่าวเพิ่มเติมว่า ตามนโยบาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (นายสมศักดิ์  เทพสุทิน) รับสนองนโยบายระงับข้อพิพาท โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพดูแลลูกหนี้ก่อนฟ้องทั่วประเทศจะมีศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชน 722ศูนย์ ส่วนกรมบังคับคดีดูแลหนี้หลังศาลพิพากษาทั่วประเทศ 117ศูนย์ ซึ่งการอำนวยความสะดวกจัดกระบวนการไกล่เกลี่ยผ่านออนไลน์ได้ และผ่านเว็บไซด์  

 

นอกจากนี้ กรมบังคับคดียังอยู่ระหว่างหารือเกี่ยวกับการเตรียมจะจัดงาน“มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน”ครั้งที่ 2 ประมาณเดือนมี.ค.โดยอยู่ระหว่างพิจารณาสถานที่ว่าจะเป็นจังหวัดไหน โดยมีเป้าหมายจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยในภูมิภาคด้วย

กรมบังคับคดีผนึก 17หน่วยงาน จัด “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน” ที่ผ่านมา กรมบังคับคดีมีสถิติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีปีงบประมาณ 2554-เดือนม.ค.2565 โดยปริมาณคดีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและสามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จเพิ่มขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ 41.61%ในปี 2554

 

กระทั่งปี2565 เพียง 4เดือน(ต.ค.-ม.ค.65) มีเรื่องเข้าสู่การไกล่เกลี่ย 6,440เรื่อง ทุนทรัพย์ 2,535ล้านบาท  ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 6,186เรื่อง  ทุนทรัพย์  2,315ล้านบาท หรือไกล่เกลี่ยสำเร็จ 96.06% 

 

ทั้งนี้เป็นผลจากสถาบันการเงินเจ้าหนี้มีข้อเสนอพิเศษและเป็นที่พอใจตกลงกันได้  ซึ่งการระงับข้อพิพาทดังกล่าวนอกจากช่วยเหลือลูกหนี้พ้นจากภาระหนี้แล้วยังเปิดโอกาสลูกหนี้กลับสู่ระบบโดยเฉพาะเกิดการหมุนรอบของกลไกทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

สำหรับกรมบังคับคดีปัจจุบันยังมีทรัพย์ค้างดำเนินการกว่า 4แสนล้านบาท(ตามราคมประเมิน)ซึ่งเป็นคดีที่มีอายุ 10ปีที่กรมเองอยากจะเร่งรัดโดยส่วนนี้มีประมาณ 40,000ล้านบาท ซึ่งหากเป็นลูกหนี้ 4กลุ่มก็สามารถเข้าร่วมในมหกรรมไกล่เกลี่ยครั้งนี้ได้ด้วย