นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถา “DIGITAL ASSET PERSPECTIVE ยุทธศาสตร์ตลาดหุ้นไทย สู่สินทรัพย์ดิจิทัล” ในงานเสวนา DIGITAL ASSET โอกาสและความเสี่ยง ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดยกล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างการตั้งศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (Thai Digital Assets Exchange: TDX) โดยจะมีการพัฒนาแพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งจะเป็นแบบ OPEN Platform ที่ต่อเชื่อมกับผู้เล่นทั้งในและต่างประเทศ เปิดให้มีการระดมทุนและลงทุนใน Investment Token และ Utility Token เปิดให้บริการซื้อขาย การชำระราคา และบริการกระเป๋าเงินดิจิทัล
และจะมีการต่อเชื่อมกับพาร์ทเนอร์ ทำหน้าที่เป็น API หรือ application programming intelface หรือแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงกับผู้เล่นต่างๆ ทั้งนี้คาดว่ะเปิดตัวได้ในไตรมาส ที่ 3/2565 ซึ่งการใช้งานจะง่าย เหมือน settrade และในอนาคตจะมีการพัฒนา settrade ให้เป็นแอปพลิเคชั่น ที่สามารถซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้และมีการต่อเชื่อมกับ TDX
นายภากร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีผู้ให้ความสนใจเข้ามาระดมทุนและมีนักลงทุนเข้ามาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมูลค่าตลาดหุ้นทั่วโลกมีขนาดใหญ่ประมาณ 113 ล้านล้านเหรียญฯ มีจำนวนหลักทรัพย์อยู่ที่ 5.9 หมื่นหลักทรัพย์ มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 860 พันล้านเหรียญฯ (ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีมูลค่าประมาณ 6 แสนล้านเหรียญฯ หรือ 0.6% ของมูลค่าตลาดหุ้นทั่วโลก) ซึ่งตลาดหุ้นทั่วโลกยังมีขนาดใหญ่มาก
เมื่อเทียบกับตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ 1.69 ล้านล้านเหรียญฯ มีจำนวนเหรียญที่ทำการซื้อขาย 9,493 เหรียญ และมีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 8 หมื่นล้านเหรียญฯต่อวัน ซึ่งขนาดของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลปัจจุบันจะอยู่ที่ 10% ของมูลค่าตลาดหุ้นทั่วโลก แต่แนวโน้มจะค่อยๆใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
นายภากร กล่าวอีกว่า ทุกสิบปี ตลาดทุนไทยจะเติบโตขึ้น 2 เท่า โดยในปี 2555 จากมูลค่าหลักทรัพย์จดทะเบียนประมาณ 11.8 ล้านล้านบาท พบว่าในปี 2565 ตลาดมีมูลค่าใหญ่ขึ้นเกือบ 2 เท่า หรือขึ้นมาอยู่ที่เกือบ 20 ล้านล้านบาท ขณะที่ในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือในปี 2575 เชื่อว่าตลาดหลักทรัพย์หลัก และตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล อาจมีการเติบโตในระดับที่ใกล้เคียงกัน แต่เชื่อว่าตลาดหลักทรัพย์หลักจะไม่ได้หายไป แต่จะมีการพัฒนาไปแบบควบคู่กัน
“สินทรัพย์ดิจิทัล การลงทุนในกลุ่มนี้มีแนวโน้มโตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มองว่าตลาดสิทรัพย์หลักและตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ใช่ตลาดที่แยกซ้ายกับขวา แต่เป็นตลาดที่ต่อเชื่อมกันได้ ซึ่งการระดมทุนในอนาคต ในกลุ่มสตาร์ทอัพ การเข้าถึงแหล่งทุนอาจยังมีข้อจำกัด แต่สามารถระดมทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ดังนั้นจุดแข็งของทั้ง 2 ตลาดจะต่างกัน จึงมองการเจริญเติบโตแบบควบคู่กัน น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้” นายภากร กล่าว
สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ตลาดหลักทรัพย์ให้ความสำคัญจะไปทำธุรกิจ ประกอบด้วย Investment Token หรือ Token ในด้านการลงทุน คือ ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการเข้าร่วมทุนในโครงการหรือกิจการใดๆ และ Utility Token หรือ การให้สิทธิแก่ผู้ถือในการได้รับประโยชน์หรือสินค้าและบริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง
“ประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลมี 3 ประเภท คือ Investment Token , Utility Token และ Cryptocurrency ซึ่งนักลงทุนจะต้องทำความเข้าใจ เพราะมีความเสี่ยงไม่เหมือนกัน บางความเสี่ยงอาจคล้ายกับการลงทุนในหลักทรัพย์ปกติ -ขณะที่บางอย่างเป็นการลงทุนที่เรียกว่าการแสวงหากำไร” นายภากร กล่าว
นายภากร กล่าวต่อว่า สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นทั้งโอกาสด้านนวัตกรรมและความเสี่ยง โดยโอกาสในด้านนวัตกรรม คือ โอกาสในการลงทุนในนวัตกรรมใหม่ที่เติบโตสูง เช่น การลงทุนใน Investment Token ในภาพยนต์ ซึ่งมีการแบ่ง Token เป็น 3 ประเภท โดยแต่ละประเภทให้สิทธิไม่เหมือนกัน แม้จะอยู่ภายใต้สินทรัพย์เดียวกัน ซึ่งเป็นความแปลกใหม่ของนวัตกรรม หรือ New Asset Class
นอกจากนี้ด้วยการเป็นสินทรัพย์ลงทุนประเภทใหม่ ทำให้เกิดการกระจายความเสี่ยงได้มากขึ้น เพราะผลตอบแทนของ Investment Token ดังกล่าวอาจไม่เป็นไปในทางเดียวกับสินทรัพย์ที่มีอยู่ในโลกปัจจุบัน และ การเข้าถึงที่นักลงทุนไม่จำเป็นต้องซื้อครั้งละจำนวนมาก ให้ทำนักลงทุนทุกประเภท สามารถเข้ามาลงทุนตามวงเงินที่ต้องการได้
อย่างไรก็ตาม สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นการลงทุนรูปแบบใหม่ ทำให้ยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสูงจากสภาพคล่องที่ยังน้อย ขณะเดียวกันการกำกับดูแลอาจยังไม่ครอบคลุม เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ทำให้การกำกับดูแลหรือกฎระเบียบจะค่อยๆ ทยอยออกมาบังคับใช้ และการยืนยันตัวตนรวมทั้งภัยทางไซเบอร์ เป็นเรื่องสำคัญมาก และยังเป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ ทำให้เกิดความมั่นใจและน่าเชื่อถือ