ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 33.05 บาทต่อดอลลาร์

08 มี.ค. 2565 | 01:05 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มี.ค. 2565 | 09:19 น.

เงินบาทยังมีโอกาส “อ่อนค่า” ลงต่อได้ หากตลาดยังคงปิดรับความเสี่ยงและนักลงทุนต่างชาติขายสินทรัพย์ไทยมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่ง แรงขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติทำกำไรเพื่อลดความเสี่ยงพอร์ต แต่ยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำได้บ้าง 

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 33.05 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า” ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.10 บาท/ดอลลาร์

 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็วในวันก่อนหน้า อาจเริ่มชะลอลงได้บ้าง หลังจากที่เงินบาทอ่อนค่ามาใกล้แนวต้านสำคัญในโซน 33.00 บาทต่อดอลลาร์

 

อย่างไรก็ดี เงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าลงต่อได้ หากตลาดยังคงปิดรับความเสี่ยงและนักลงทุนต่างชาติขายสินทรัพย์ไทยมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเรามองว่า แรงขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติเป็นลักษณะการขายทำกำไรเพื่อลดความเสี่ยงพอร์ต ทั้งนี้ เงินบาทอาจยังพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำได้บ้าง หากสถานการณ์สงครามเริ่มมีโอกาสสงบลงได้ ซึ่งต้องรอลุ้นการเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครนในช่วงนี้ 

อนึ่งการอ่อนค่าของเงินบาทในวันก่อนหน้า ได้ทำให้โซนแนวรับ แนวต้านของเงินบาทมีการเปลี่ยนไป โดยเรามองว่า แนวต้านสำคัญของเงินบาทอยู่ใกล้โซน 33.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเริ่มเห็นบรรดาผู้ส่งออกมารอขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ส่วนแนวรับสำคัญ จะอยู่ในช่วง 32.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยฝั่งผู้นำเข้าได้ทยอยปิดความเสี่ยงค่าเงินไปมากแล้ว ทำให้ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ยังมองว่าสามารถรอจังหวะเพื่อซื้อเงินดอลลาร์ได้ หากไม่มีความจำเป็น

 

อย่างไรก็ดี สภาวะสงครามที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงอาจกดดันให้ตลาดพลิกกลับไปปิดรับความเสี่ยงและผันผวนหนักได้ทุกเมื่อ ซึ่งเรามองว่า ภาพดังกล่าวจะทำให้เงินบาทอาจผันผวนในกรอบที่กว้างกว่าช่วงปกติได้ ทำให้การปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนควรจะต้องมีการใช้เครื่องมือที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ การใช้ Option

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.10 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมผันผวนหนักและยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง จากความกังวลว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่พุ่งสูงขึ้นจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อาจกดดันให้เศรษฐกิจชะลอลง ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น จนนำไปสู่ภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจซบเซา ขณะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง) ได้ในที่สุด ซึ่งความกังวลแนวโน้มการเกิดภาวะ Stagflation ได้กดดันให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเทขายสินทรัพย์เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง กดดันให้ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ดิ่งลงกว่า -2.95% ขณะเดียวกัน ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ก็ร่วงลงกว่า -3.62% เช่นกัน แม้ว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ จะปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1.77% ก็ตาม ทั้งนี้ หุ้นที่ยังปรับตัวได้ดียังคงเป็นหุ้นกลุ่มพลังงาน รวมถึงหุ้นกลุ่ม Materials ที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวลดลงต่อเนื่องกว่า -1.23% จากความกังวลสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่อาจส่งฉุดการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรป พร้อมกับเร่งให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น จนนำไปสู่ภาวะ Stagflation ได้เช่นกัน ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดยังเดินหน้าเทขายหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มการท่องเที่ยวและการเดินทาง กลุ่มยานยนต์ และกลุ่มการเงิน ขณะที่ หุ้นกลุ่มพลังงานสามารถปรับตัวสวนทิศทางตลาดได้จากอานิสงส์ราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น

 

ทั้งนี้ เรามองว่า แรงเทขายสินทรัพย์นับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนนั้นได้สอดคล้องกับการปรับฐานของตลาดในช่วงเกิดความเสี่ยง Geopolitical risk ที่ผ่านมา ทำให้ยังมีโอกาสที่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงจากสามารถพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นได้ หากสถานการณ์ความขัดแย้งสามารถคลี่คลายลงได้ ซึ่งต้องติดตามการเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครน หลังล่าสุดทางรัสเซียได้มีการยื่นเงื่อนไขการหยุดยิงที่ชัดเจน

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดต่างเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อเป็นหลุมหลบภัยจากความผันผวนในตลาดอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเกิดภาวะ Stagflation ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังทรงตัวใกล้ระดับ 1.77% ขณะที่ส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับบอนด์ยีลด์ 2 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวลดลงเหลือเพียง 0.25% สะท้อนภาพความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวของผู้เล่นในตลาดได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ เรามองว่า เมื่อตลาดกล้ากลับมาเปิดรับความเสี่ยง บอนด์ยีลด์ระยะยาวก็จะสามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นได้ นอกจากนี้ ท่าทีของเฟดที่จะเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับลดงบดุล จะสามารถหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี จะกลับมาปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่องในระยะถัดไป ดังนั้น นักลงทุนอาจใช้จังหวะที่บอนด์ยีลด์ ปรับตัวลดลงในการ Sell on Rally หรือทยอยขายทำกำไรได้บ้าง

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อหลบความเสี่ยงจากภาวะสงคราม ขณะเดียวกัน ผลกระทบของสงครามและมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียที่อาจกระทบเศรษฐกิจยุโรป ก็ได้กดดันให้ สกุลเงินยูโร (EUR) และสกุลเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) อ่อนค่าลงต่อเนื่องแตะระดับ 1.087 ดอลลาร์ต่อยูโร และ 1.311 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ซึ่งทั้งสองปัจจัยได้ช่วยหนุนให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 99.24 จุด ทั้งนี้ แม้เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น แต่ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ได้หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นทะลุระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์  สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ประเมินว่า ในระยะสั้นผู้เล่นบางส่วนยังคงต้องการถือทองคำเพื่อลดความเสี่ยงพอร์ตจากสถานการณ์สงคราม ทั้งนี้ เรามองว่า ราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นมาพอสมควร ทำให้ผู้เล่นที่เข้าซื้อมาตั้งแต่ช่วง 1,900 หรือ 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจรอจังหวะทยอยขายทำกำไรออกมาบ้าง ซึ่งต้องติดตามทิศทางการเจรจาเพื่อยุติสงครามอย่างใกล้ชิด

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อย่างใกล้ชิด หลังฝั่งรัสเซียมีการยื่นเงื่อนไขในการหยุดยิงที่ชัดเจน อาทิ 1. ยูเครนจะต้องยุติปฎิบัติการทางทหาร 2. ยูเครนจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อย้ำจุดยืนความเป็นกลางและไม่เข้าร่วมกับพันธมิตรใดๆ 3. ยูเครนจะต้องยอมรับว่าไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และ 4. ยูเครนจะต้องยอมรับเอกราชของประเทศเกิดใหม่ในเขตดอนบาส อย่างไรก็ดี สถานการณ์ล่าสุดยังมีลักษณะที่การเจรจายังดำเนินไปพร้อมกับการสู้รบเพื่อสร้างความได้เปรียบบนโต๊ะเจรจา ทำให้ในระยะสั้น เรามองว่า ตลาดการเงินมีแนวโน้มผันผวนสูงและยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนครั้งใหม่ที่ 33.095 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 33.04 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.97 บาทต่อดอลลาร์ฯ

 

โดยเงินบาทยังเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าสอดคล้องกับหลายๆ สกุลเงินในเอเชีย ขณะที่ตลาดยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์ระหว่างยูเครน-รัสเซีย หลังการเจรจารอบ 3 ของตัวแทนทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบจากสัญญาณขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.00-33.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่  ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/64 ของยุโรป และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนม.ค. ของสหรัฐฯ