แนวโน้มราคาทอง อะไรเป็นปัจจัยหนุน YLG มีคำคอบ

08 มี.ค. 2565 | 12:02 น.
อัปเดตล่าสุด :09 มี.ค. 2565 | 13:35 น.

วายแอลจี จับตา 6 ปัจจัยชี้แนวโน้มราคาทองคำ น้ำมัน ดอกเบี้ย ระบุการส่งออกน้ำมันของรัสเซียส่วนใหญ่ถูกแบน อาจขาดแคลนน้ำมันหรือราคาพุ่งสูงถึง 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

แนวโน้มราคาทองคำ  วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ YLG เผย ราคาทองคำโลก บวก 10.58% ราคาทองไทยปรับตัวขึ้น 2,350 บาทต่อบาททองคำหรือ เพิ่มขึ้น 8.22% มองระยะข้างหน้า จับตา 6 ปัจจัย ที่จะชี้แนวโน้มราคาทองคำ น้ำมัน ดอกเบี้ย หวั่นราคาพลังงานทะลุ จะยิ่งกระตุ้นความกังวลต่อเศรษฐกิจชะลอตัว

 

นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด  (YLG)  เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน(วันที่ 8 มี.ค.) ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น  190.21 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 10.58% จากราคาเปิด 1,828 ดอลลาร์ต่อออนซ์  สู่ระดับ 1,987.41 ดอลลาร์ต่อออนซ์  ระดับสูงสุดของปีนี้ คือ  2,002.44  ดอลลาร์ต่อออนซ์ซึ่งราคาเพิ่งขึ้นไปทดสอบในวันที่ 7 มี.ค.ส่วนระดับต่ำสุดของปีนี้อยู่ที่ 1,780.30  ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

 

แนวโน้มราคาทอง  อะไรเป็นปัจจัยหนุน  YLG มีคำคอบ

ราคาทองคำในประเทศปรับตัวสูงขึ้น 2,350 บาทต่อบาททองคำ  หรือ  +8.22% จากราคาเปิดที่ 26,850 บาทต่อบาททองคำ สู่ระดับ 30,950  บาทต่อบาททองคำ  ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่

ส่วนทิศทางในระยะถัดไป นักลงทุนจึงต้องติดตามข่าวสารและปัจจัยพื้นฐานอย่างใกล้ชิด  6 ปัจจัยได้แก่

 

  • 1.สถานการณ์ความตึงเครียดในยูเครน  : หากการโจมตียูเครนโดยรัสเซียยังคงดำเนินต่อไป  จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง  จนกระตุ้นแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ
  • 2.ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการคว่ำบาตรรัสเซีย  : รัสเซียอาจยิ่งเผชิญการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น  ซึ่งมีแนวโน้มจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก  จนกระตุ้นแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ
  • 3.ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมัน :  รัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากซาอุดิอาระเบีย โดยผลิตน้ำมันวันละกว่า 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน  หากการส่งออกน้ำมันของรัสเซียส่วนใหญ่ถูกแบนอาจมีการขาดแคลนน้ำมัน 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือมากกว่านั้น และอาจส่งผลให้ราคาพุ่งสูงถึง 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  ซึ่งราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นจะยิ่งกระตุ้นความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ 

 

ทั้งนี้  โกลด์แมน แซคส์  ระบุว่า  ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจะทำให้ GDP ที่แท้จริงในเขตยูโรโซนลดลง 0.6% และลดลง 0.3% ในสหรัฐ  พร้อมกับกระตุ้นเงินเฟ้อ  ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนทองทั้งในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยและสินทรัพย์ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ

 

  • 4.การเคลื่อนไหวของสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้น  :  เมื่อนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ  จะทำให้นักลงทุนปิดรับความเสี่ยง (Risk off) ด้วยการเทขายหุ้นจนกระตุ้นแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำเช่นกัน 
  • 5.กระแสเงินทุนไหลเข้ากองทุน ETF ทองคำ : เมื่อความเชื่อมั่นในทองคำเพิ่มสูงขึ้น  จะก่อให้เกิดกระแสเงินทุนไหลเข้ากองทุน SPDR ซึ่งเป็นกองทุน ETF ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก  สะท้อนจากข้อมูลของ SPDR  ที่บ่งชี้ว่า SPDR ถือครองทองคำเพิ่มแล้วถึง 87.04 ตันในปีนี้
  • 6.ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) :  แม้สถานการณ์ในยูเครนจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นจนเป็นปัจจัยกระตุ้นเงินเฟ้อ  ซึ่งอาจส่งผลให้เฟดยิ่งเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ  อย่างไรก็ดี  หากเหตุโจมตียูเครนของรัสเซียส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ  อาจส่งผลให้เฟดคุมเข้มนโยบายการเงินแบบค่อยเป็นค่อยไปมากยิ่งขึ้น

 

จากที่กล่าวมาข้างต้น  จะเห็นได้ว่าสถานการณ์ความตึงเครียดในยูเครนส่งกระทบเป็นวงกว้าง และส่งผลต่อกันเป็นทอดๆ  และหากยิ่งยืดเยื้อจะยิ่งลุกลามกลายเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจได้ 

 

ดังนั้น  หากความตึงเครียดในยูเครนดำเนินต่อไปเชื่อว่าทิศทางราคาทองคำจะยังคงสดใส  แม้มีแรงขายทำกำไรสลับออกมาเป็นระยะจะถือเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ  ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นบวกต่อทองคำ

อย่างไรก็ดี  หากความตึงเครียดในยูเครนสิ้นสุดลง  ทิศทางทองคำจะวกกลับ  จะทำให้ราคาเผชิญแรงขายทำกำไรอย่างหนักได้  นักลงทุนจึงต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด  พร้อมปรับสถานะการลงทุนให้ทันกับสถานการณ์อยู่เสมอ

 

  • คำแนะนำนักลงทุนอย่างไร
  1. สำหรับผู้ที่มีทองคำในมือเป็นจำนวนมาก – แบ่งขายทำกำไรบางส่วน  และถือต่อบางส่วน
  2. หากถือสถานะเป็นจำนวนมาก  แนะนำให้ลดสถานะการถือครองทองคำบางส่วน ด้วยการขายทำกำไรระยะสั้นเมื่อราคาปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้าน 2,031 ดอลลาร์ต่อออนซ์  แต่หากผ่านแนวต้าน 2,031 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้  แนะนำถือสถานะที่เหลือต่อเพื่อรอไปขายที่แนวต้านถัดไปโซน  2,075 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แล้วรอการอ่อนตัวลงของราคาจึงกลับเข้าซื้อบริเวณแนวรับด้านล่าง 
  3. สำหรับผู้ที่ไม่มีทองคำอยู่ในมือ – รอการอ่อนตัวลงเพื่อเป็นโอกาสทยอยซื้อ  โดยระมัดระวังการไล่ซื้อ

 

ประเมินว่าการปรับตัวลงของราคาทองคำยังคงเป็นโอกาสในการเข้าซื้อเช่นเดิม  แต่แนะนำให้แบ่งไม้เข้าซื้อ  โดยไม่เข้าซื้อที่แนวรับใดแนวรับหนึ่งเต็ม 100% ของพอร์ต 

 

แนะนำเข้าซื้อไม้แรก  หากราคาทองคำหากสามารถยืนเหนือแนวรับ 1,975-1,958 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ แต่หากราคาหลุดแนวรับบริเวณ 1,958 ดอลลาร์ต่อออนซ์  ควรชะลอการเข้าซื้อออกไปยังแนวรับถัดไปที่ 1,929 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

 

ขณะที่การหลุด 1,929 ดอลลาร์ต่อออนซ์  จะทำให้ทิศทางราคาทองคำในระยะสั้นเป็นนลบมากยิ่งขึ้น  จึงอาจชะลอการเข้าซื้ออกไปเพื่อรอดูการตั้งฐานของราคาอีกครั้ง