นายคมศร ประกอบผล ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เปิดเผยว่า ในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่จะมีขึ้นในคืนวันที่ 16 - 17 มีนาคม 2565 ตามเวลาประเทศไทย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุนทิสโก้ (TISCO ESU) คาดว่า Fed จะประกาศขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของนโยบายการเงินจากที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากผลกระทบของ COVID-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนเป็นนโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นมาถึง 7.9% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะสั้น
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจกลยุทธ์ทิสโก้เชื่อว่า ตลาดหุ้นจะทยอยฟื้นตัวขึ้นได้ต่อจากนี้ แม้จะมีแรงกดดันจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น เนื่องจาก Fed ได้สื่อสารกับตลาดเกี่ยวกับประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยและการถอนสภาพคล่องมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปีที่แล้ว จึงทำให้ตลาดซึมซับข่าวการขึ้นดอกเบี้ยไปมากแล้ว
โดยในปัจจุบันตลาดซื้อขายล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยคาดการณ์ว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยรวม 7 ครั้งในทุกการประชุมที่เหลือของปีนี้ และขึ้นต่อเนื่องอีก 2 ครั้งในปีหน้า ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปที่ระดับ 2.5% ในช่วงกลางปี 2566 เท่ากับจุดสูงสุดของวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยรอบก่อนในช่วงปี 2558 - 2562
“ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุนทิสโก้มองว่า ในระยะสั้นตลาดหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นรับข่าวความชัดเจนเรื่อง Fed ประกาศขึ้นดอกเบี้ยในคืนนี้ เพราะก่อนหน้านี้ตลาดหุ้นได้ปรับฐานเพื่อรับข่าวดังกล่าวไปแล้ว โดยหากเปรียบเทียบกับในช่วงเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในวัฏจักรก่อนหน้า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ปรับฐานราว 10% ก่อนที่จะขึ้นดอกเบี้ยจริงในเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งใกล้เคียงกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ตลาดปรับฐานลงมาราว 10% นับจากต้นปีนี้” นายคมศรกล่าว
ส่วนในประเด็นสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ มองว่าตลาดหุ้นได้ซึมซับข่าวดังกล่าวไปมากแล้วเช่นกัน โดยประเมินจากการเคลื่อนไหวของ Earning Yield Gap ซึ่งเป็นส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของตลาดหุ้นกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ที่ใช้สะท้อนผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่นักลงทุนได้รับเพื่อชดเชยความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดหุ้น มักเพิ่มขึ้นเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบตลาด
โดยในรอบนี้ Earning Yield Gap ได้เพิ่มขึ้นมา 58 bps นับจากสงครามเริ่มต้นขึ้น ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบอื่นๆ ในอดีต เช่น เหตุการณ์ 911 ในปี 2544 ที่ Earning Yield Gap เพิ่มขึ้น 78 bps เหตุการณ์รัสเซียยึดไครเมียในปี 2557 ที่ Earning Yield Gap เพิ่มขึ้น 54 bps และ การโหวตรประชามติ Brexit ในปี 2559 ที่ Earning Yield Gap เพิ่มขึ้น 15 bps
ในขณะที่ความเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์อื่นๆ ชี้ว่าตลาดเริ่มคลายความกังวลต่อผลกระทบของสงครามต่อเศรษฐกิจโลก เช่น ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงมาถึงเกือบ 30% และทองคำที่ลดลงเกือบ 10% จากจุดสูงสุด
นายคมศรกล่าวอีกว่า จากปัจจัยข้างต้นศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่า ในระยะสั้นตลาดหุ้นจะทยอยฟื้นตัวขึ้นได้ต่อจากนี้ แม้จะมีปัจจัยกดดันจากทั้งนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น และสงครามรัสเซีย ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ แต่ตลาดได้ปรับตัวลดลงมาสะท้อนข่าวดังกล่าวไปมากแล้ว ในขณะที่ความชัดเจนจากการประกาศขึ้นดอกเบี้ย และการเจรจาที่อาจทำให้ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนผ่อนคลายลงจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดต่อไป
อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากสงครามเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางต่างๆ อาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบสำคัญต่อตลาดหุ้นในระยะถัดไป และในกรณีเลวร้ายอาจทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ทำให้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุนทิสโก้มองว่า ตลาดหุ้นมีโอกาสปรับตัวลง (Downside) มากขึ้นในระยะกลาง จึงแนะนำให้นักลงทุนใช้จังหวะที่ตลาดหุ้นฟื้นตัวขึ้นในระยะสั้นลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลง