S&P หั่นเครดิต 4 แบงก์ไทย เหตุจากความเสี่ยงเชิงระบบที่เพิ่มขึ้น

22 มี.ค. 2565 | 05:23 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มี.ค. 2565 | 12:36 น.

S&P ปรับลดเครดิตเรตติ้ง 4 ธนาคาร “ไทยพาณิชย์-กสิกรไทย- กรุงไทย-ทีเอ็มบีธนชาต” เหตุจากความเสี่ยงเชิงระบบที่เพิ่มขึ้น พร้อมคาดการณ์ ยอดหนี้เสีย (NPL)ในภาคธนาคารของไทยจะขยับขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า จนแตะระดับ 5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551

เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P) ประกาศ ลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคาร 4 ไทย วันนี้ (22 มี.ค.) ประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต เนื่องจากคาดว่าความเสี่ยงเชิงระบบที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธนาคารเหล่านี้

 

โดย S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทยลงสู่ระดับ BBB จากระดับ BBB+ พร้อมกับปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารกรุงไทย และธนาคารทีเอ็มบีธนชาต จากระดับ BBB ลงสู่ระดับ BBB-

 

ขณะเดียวกัน S&P ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารกรุงเทพ ที่ระดับ BBB+ โดยระบุว่า ธนาคารดังกล่าวมีความสำคัญในเชิงระบบในประเทศไทยซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้  

S&P คงอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารกรุงเทพและธนาคารกรุงศรีอยุธยา

นอกจากนี้ ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่ระดับ BBB+ โดยระบุว่า ธนาคารได้ประโยชน์จากการเป็นธนาคารในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป

S&P ระบุว่า แม้รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยง แต่คาดว่ามาตรการเหล่านี้อาจจะทำให้ผลกระทบที่เกิดจากปัญหาด้านการปล่อยกู้ในภาคธนาคารยืดเยื้อออกไปอีก

 

S&P ระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงเป็นไปอย่างเปราะบางและไม่เสมอภาคกันในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งคาดว่าจะยังคงได้รับผลกระทบจากการเดินทางระหว่างประเทศที่ต้องถูกเลื่อนออกไป อันเนื่องมาจากสงครามยูเครน

 

ทั้งนี้  คาดการณ์ว่า เงินกู้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในภาคธนาคารของไทยจะค่อยๆ ปรับตัวขึ้นในอีก 24 เดือนข้างหน้า จนแตะที่ระดับ 5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551

แม้ว่าการปรับโครงสร้างจะช่วยให้การทำธุรกิจดำเนินต่อไปได้ชั่วคราว แต่คาดว่ากลุ่มลูกหนี้ยังต้องพึ่งพาสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำ ในช่วงเวลาที่รัฐยังขาดมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการลดภาระหนี้สินที่ระดับสูงของภาคครัวเรือน

 

อย่างไรก็ดี S&P ระบุว่า แนวโน้มของธนาคารไทยยังคงมีเสถียรภาพ เนื่องจากธนาคารยังสามารถรักษาฐานเงินทุน และอัตราส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ไว้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยรองรับผลกระทบได้บางส่วน