ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดที่ 34,861.24 จุด เพิ่มขึ้น 153.30 จุด หรือ +0.44% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,543.06 จุด เพิ่มขึ้น 22.90 จุด หรือ +0.51% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,169.30 จุด ลดลง 22.54 จุด หรือ -0.16%
ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์บวก 0.3%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 1.8% และดัชนี Nasdaq บวก 2%
หุ้นกลุ่มการเงินบวก 1.3% และหนุนดัชนี S&P500 ขึ้นมากที่สุดในวันศุกร์ ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นเพียง 2 กลุ่มที่ปิดตลาดปรับตัวลงในวันศุกร์ อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและหุ้นตัวใหญ่ในกลุ่มเติบโตปรับตัวลง ส่งผลฉุดดัชนี Nasdaq ปิดลดลง
บรรดานักลงทุนกำลังประเมินแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ว่า เฟดจำเป็นต้องเร่งดำเนินการเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ และเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนพ.ค.
นักเศรษฐศาสตร์ของซิติแบงก์คาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% จำนวน 4 ครั้งในปีนี้
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่งขึ้นในวันศุกร์ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี ขณะที่ตลาดวิตกเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อที่ระดับสูง และกังวลว่าการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีอยู่ที่ 2.492% หลังปรับตัวขึ้นเหนือระดับ 2.50% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2562
หุ้นกลุ่มสาธารณูปโภค บวก 1.5% เนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อหุ้นกลุ่มปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ดำเนินมากว่า 1 เดือนแล้ว
หุ้นกลุ่มพลังงานช่วยหนุนตลาดด้วย โดยปิดบวก 2.3% หลังราคาน้ำมันพุ่งขึ้นอย่างมาก
ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่เปิดเผยในวันศุกร์ได้แก่ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนซึ่งระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 59.4 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี จากระดับ 62.8 ในเดือนก.พ. และต่ำกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 59.7 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอาจจะทรงตัวที่ระดับ 62.8 ในเดือนมี.ค.
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น หลังการทะยานขึ้นของราคาน้ำมัน