ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อการจ้างงานและรายได้ ทำให้หลายคนหันไปใช้บริการ"เงินด่วน"โดยกู้เงินนอกระบบ รวมถึงบางรายที่“เข้าใจผิด”กับคำว่า ดอกเบี้ย 3%, 5% บ้าง โดยหารู้ไม่ว่า คืออัตราดอกเบี้ยต่อวัน ทำให้ต้องแบกภาระหนี้สินจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่พอกพูนและอาจต้องทนกับสภาวะถูกทวงถาม หรือภัยคุกคามจากเจ้าหนี้นอกระบบ เพราะหาเงินมาใช้หนี้ไม่ทัน
มาทำความเข้าใจเรื่องเงินกู้ในระบบ และนอกระบบ ทำไมถึงคิดอัตราดอกเบี้ยต่างกันมาก
เงินกู้ในระบบ
เงินกู้ในระบบเป็นการกู้ยืมเงินผ่านสถาบันการเงิน ซึ่งอาจเป็นธนาคารหรือบริษัทสินเชื่ออื่น ๆ ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย มีขั้นตอนการสมัคร การอนุมัติ การคิดดอกเบี้ยต่าง ๆ ที่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ฉะนั้นเวลาสมัครจึงต้องมีการยื่นเอกสารและหลักฐานประกอบ และระยะเวลาการอนุมัติขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันการเงิน
เงินกู้นอกระบบ
เงินกู้นอกระบบ เป็นการกู้ยืมเงินที่ไม่มีกฏหมายรองรับหรือไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย คือกู้กับใครก็ได้ที่มาปล่อยกู้ให้ แต่ไม่มีใครรับประกันว่าอัตราดอกเบี้ย หรือแม้แต่วิธีผ่อนจะเป็นไปตามกฎหมาย รวมถึงแหล่งที่มาของเงินที่ให้กู้นั้นถูกกฎหมายหรือเปล่า
การคิดดอกเบี้ย
โดยทั่วไปจะมีวิธีคิดดอกเบี้ย 2 แบบ คือ ดอกเบี้ยแบบคงที่ และดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก
ส่วนการกู้แบบนอกระบบนั้น อาจเรียกเก็บดอกเบี้ยแบบรายวัน รายเดือน หรือรายปีก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตกลงกับผู้ให้กู้
ตัวอย่างเช่น นาย A เป็นหนี้นอกระบบ 20,000 บาท ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่นายทุนในอัตรา 20% ต่อเดือน และต้องผ่อนชำระภายใน1 ปี
- ดอกเบี้ยที่นาย A ต้องจ่ายใน 1 ปี จะเท่ากับ
เงินต้น x อัตราดอกเบี้ยต่อปี % x ระยะเวลาผ่อน (ปี)
หรือเท่ากับ 20,000 x (20% x 12) x 1
คำนวณแล้วดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้กับหนี้นอกระบบต่อเดือนอยู่ที่ 4,000 บาท หรือต่อปีที่ 48,000 บาท และเมื่อบวกกับเงินต้นที่กู้ยืม 20,000 บาท รวมแล้ว 68,000 บาท เท่ากับต้องผ่อนชำระต่อเดือนที่ 5,667 บาท
แต่หากเป็นการกู้เงินในระบบ กรณีสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน จะคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 25% ต่อปี ส่วนสินเชื่อที่มีหลักประกันจะไม่เกิน 24% ต่อปี หรือกรณีที่แพงสุด กฎหมายกำหนดที่ 28% ต่อปี เมื่อมาคำนวณก็ยังจ่ายน้อยกว่าดอกเบี้ยนอกระบบหลายเท่าตัวมาก
โดยภาระดอกเบี้ยจะเหลือแค่ 20,000 x 28% x 1 หรือปีละ 5,600 บาท เฉลี่ยต่อเดือน 467 บาท เมื่อบวกกับเงินต้น 20,000 บาท มีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายใน 1 ปี รวมทั้งสิ้น 25,600 บาท ผ่อนเพียงเดือนละ 2,133 บาท
3 วิธี"ปลดหนี้" เมื่อเป็นหนี้นอกระบบ
"ฐานเศรษฐกิจ" ชวนมาหาทางออกกับแนวทางเพื่อ"ปลดหนี้"นอกระบบดังนี้
1.หาเงินมาปิดหนี้
เบื้องต้นอาจเริ่มต้นจากการลดรายจ่ายและหารายได้เพิ่ม ดูก่อนว่าจะช่วยให้มีเงินก้อนเพียงพอปิดหนี้ได้หรือไม่
2.ใช้แหล่งเงินกู้ในระบบแทน
3.หาคนกลางมาช่วยไกล่เกลี่ยประนอมหนี้
ติดต่อสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) สำนักงานอัยการสูงสุด สายด่วน 1157 โดยคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัดจะช่วยเป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้นอกระบบให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย (ที่มา : https://bit.ly/3aojiur)
ทั้งนี้ลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้น้อย จะมีคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบในทุกจังหวัดช่วยฝึกอบรมอาชีพ ฝีมือแรงงาน และให้ความรู้ทางการเงิน
นอกจากนี้ ลูกหนี้นอกระบบสามารถขอคำปรึกษาและร้องเรียนปัญหาหนี้นอกระบบได้ที่หน่วยงานราชการดังต่อไปนี้
อ้างอิงข้อมูล