นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2565 กยศ.ได้เตรียมวงเงินสำหรับปล่อยให้นักเรียนหรือนักศึกษาได้กู้ยืมไม่ต่ำกว่า 38,000 ล้านบาท รองรับไม่ต่ำกว่า 6 แสนคน ซึ่งเป็นวงเงินที่ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว
เพื่อช่วยเหลือผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมีแหล่งทุนนำไปใช้ศึกษาเล่าเรียน ทั้งนี้ กยศ. พร้อมนำเงินสภาพคล่องของกองทุนมาใช้เพิ่ม หากมีความต้องการกู้เงินมากกว่าที่เตรียมไว้
“กยศ. ยังตั้งเป้าปล่อยกู้ใกล้เคียงกับปีก่อน เพราะมีผู้ปกครองไม่น้อยที่ได้รับผลระทบจากภาวะเศรษฐกิจ การแพร่ระบาดของโควิด และรายจ่ายค่าครองชีพที่สูงขึ้น และพร้อมเพิ่มวงเงินหากมีความต้องการมากกว่าที่คาดไว้ ส่วนการชำระหนี้ในปีนี้ ตั้งเป้าหมายจะมียอดชำระไม่ต่ำกว่า 32,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะมาจากการหักชำระบัญชีเงินเดือน” นายชัยณรงค์ กล่าว
นอกจากนี้ กยศ.จะชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ผิดนัดชำระหนี้ ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความในปีนี้ รวมถึงงดการขายทอดตลาด ทรัพย์สินของผู้กู้ยืมเงิน และหรือผู้ค้ำประกัน ที่กองทุนได้ขอให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์ไว้ เพื่อเป็นการดูแลแบ่งเบาภาระผู้กู้ยืมด้วย
ขณะเดียวกัน ยังได้ร่วมกับ กระทรวงยุติธรรมในการเปิดให้ลูกหนี้มีการไกล่เกลี่ย และปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อไม่ให้เข้าสู่กระบวนทางการศาล ซึ่งจะช่วยให้ตลอดปีนี้ยอดการฟ้องร้องดำเนินคดีลดลง จากปกติเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 1 แสนราย ลดเหลือเพียงระดับพันราย
รวมถึงกำลังอยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมาย เพื่อเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ที่ถูกดำเนินคดีด้วย โดยปัจจุบัน กยศ.มีหนี้เสียอยู่ประมาณ 80,000 ล้านบาท จากจำนวนผู้กู้ยืม 2 ล้านราย
นายชัยณรงค์กล่าวว่า ในปีนี้ กยศ. ยังได้ยกเลิกการกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืนกองทุน สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับอนุมัติให้กู้ยืมเงินและทำสัญญากู้ยืมเงินใหม่ และขยายหลักเกณฑ์การกู้ยืมเพื่อให้นักเรียนหรือนักศึกษาสามารถเข้ามาขอกู้ได้เพิ่มขึ้น
โดยเปิดให้นักเรียนระดับอาชีวศึกษา และระดับปริญญาตรีที่ศึกษาในหลักสูตรสาขาวิชา ที่เกี่ยวกับสืบทอดอัตลักษณ์ของชาติ หรือวิชาที่ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มรดกตกทอด ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ช่างทองหลวง ศิลปหัตถกรรม โบราณคดี ดนตรีไทย เป็นต้น เข้ามากู้ยืมกับ กยศ.ได้โดยตรง
นอกจากนี้ ได้เปิดให้นักเรียนหรือนักศึกษาที่เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ เข้ามากู้ยืมเงินในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรีได้ด้วย การศึกษาระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต และ ระดับปริญญาโท
โดยจะมีหลักสูตรนำร่อง ในสาขาวิชาที่ตอบสนอง 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ เป็นต้น รวมทั้งสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพด้วย