ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำรงตำแหน่งช่วง พ.ค. 2544 - ต.ค. 2549 เปิดเผยในงาน เหลียวหลังแลหน้ากับผู้ว่าการธปท.ว่า ปี 2544 หลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งได้ไม่นาน ความเชื่อมั่นและความศรัทธาในธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตอนนั้นตกต่ำมาก ขณะที่ช่วงก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งพบว่าผู้คนเชื่อมั่นและศรัทธาในธปท.อย่างเต็มที่ว่าเป็นองค์กรที่มีความรู้ทางเศรษฐกิจจริง หากเกิดปัญหาเศรษฐกิจจะช่วยแก้ไขได้ แต่วิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้ความเชื่อดังกล่าวหายไปและลดลงต่ำมาก
“ในช่วงปลายปี 2544 สำนักผู้ว่าการฯ จ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วัดความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อธปท.ปรากฎว่ามีประชาชนที่เชื่อมั่นและศรัทธาเพียง 10% เท่านั้น และไม่มีความเชื่อมั่นและศรัทธา 90% ในปี 2544 เราได้เข้ามาพบพนักงานครั้งแรก พนักงานเล่าว่า หลังจากเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งนั้นได้มีการเรียกแท็กซี่เพื่อไปทำงานที่ธปท.พบว่าแท็กซี่ไม่รับส่งพนักงานรายนั้น เพียงเพราะทำงานที่ธปท.หากถามว่าโจทย์สำคัญของเราคืออะไรเราตอบว่าเป้าหมายของเราคือเรียกความเชื่อมั่นและศรัทธาในธปท.กลับมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวต่อวว่า ในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2545 ได้รับรายงานจากสายตรวจสอบของสถาบันการเงินว่า ธนาคารศรีนครมีฐานะทางการเงินแย่ มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ถึง 80% และมีรายได้จากดอกเบี้ยรับต่ำกว่ารายได้จากดอกเบี้ยจ่ายมาก อีกทั้งขาดทุนมหาศาลทุกเดือน ถ้าปล่อยไว้คาดว่าธนาคารแห่งนี้จะล้มละลาย และทำให้เกิดปรากฏการณ์แห่ถอนเงินฝากและอาจลามไปถึงธนาคารอื่นๆอีกได้
“เมื่อเราได้รับรายงานเรื่องนี้ ทำให้เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เราต้องทำและแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด คำตอบของเราคือต้องควบรวมธนาคารกับอีกแห่งหนึ่ง คือ ธนาคารนครหลวงไทย เพราะเป็นธนาคารที่ภาครัฐถือหุ้น 100% เหมือนกับธนาคารศรีนคร หากปล่อยให้ธนาคารทั้ง 2 แห่งเจรจาร่วมกันเชื่อว่าภายใน 1 สัปดาห์ประชาชนแห่ถอนเงินฝากแน่นอน แต่เราต้องดำเนินการให้เสร็จโดยที่ไม่มีใครรู้เพื่อไม่ให้มีประชาชนถอนเงินฝากออกไป อีกทั้งการที่ธนาคารนครหลวงไทยและธนาคารศรีนครเป็นของรัฐบาลนั้นเท่ากับว่าคำอนุมัติของรัฐมนตรีกระทรวงคลังถือเป็นมติของผู้ถือหุ้นในที่ประชุมได้ ทำให้เราต้องรีบควบรวมธนาคารไว้ด้วยกันให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน หากทำได้ตลาดจะไม่รู้และไม่มีการถอนเงิน ทุกอย่างจะดำเนินการได้ราบรื่น”
ขณะเดียวกันธปท.ได้มีการซุ่มเจรจาร่วมกับคณะกรรมการของธนาคารทั้ง 2 แห่งเพื่อขอความร่วมมือให้เห็นถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ โดยคณะกรรมการทั้ง 2 ธนาคารได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ แต่ก่อนที่จะถึงวันที่ 1 เมษายน 2545 ซึ่งเป็นวันดำเนินการควบรวมทั้ง 2 ธนาคาร ทางธปท.ได้มีการส่งคนของธปท.ราว 4-5 คน เข้าไปสังเกตการณ์ในธนาคารนครหลวงไทยเพื่อเตรียมการรับโอนเงินฝาก รับโอนพนักงาน สาขาและสินทรัพย์ถาวรทุกชนิด เมื่อถึงวันนั้นจะสามารถดำเนินการได้ทันที
เมื่อถึงวันที่วันดำเนินการควบรวมทั้ง 2 ธนาคาร ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน 2545 เวลา 8.30น. คณะกรรมการธนาคารศรีนครเริ่มประชุมโดยมีมติที่ประชุมให้ขายลูกหนี้แก่ธนาคารนครหลวงไทย โอนเงินฝาก โอนสาขาและสินทรัพย์ถาวรทุกชนิด ขณะที่เวลา 9.30น. ธนาคารนครหลวงไทยเริ่มมีการประชุมโดยที่ประชุมมีมติรับซื้อลูกหนี้จากธนาคารศรีนคร รับโอนเงินฝาก และรับซื้อสินทรัพย์ถาวรทุกชนิด รวมทั้งรับโอนสาขาและเงินฝาก ซึ่งถูกต้องตามกฎหมาย หลังจากนั้นเมื่อได้ข้อสรุปแล้วให้นำเสนอต่อผู้ว่าธปท.ภายในเวลา 11.00น.
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวต่อวว่า หลังจากนั้นผู้ว่าธปท.ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังขออนุมัติให้เป้นไปตามมติของคณะกรรมการธนาคารทั้ง 2 แห่ง โดยรัฐมนตรีคลังได้มีการเซ็นอนุมัติหนังสือฉบับดังกล่าวและนำส่งมาที่ผู้ว่าธปท.ภายในเวลา 13.00น. และทางธปท.ได้นัดแถลงข่าวในเวลา 15.00 น.โดยเป็นการแถลงข่าวควบรวมทั้ง 2 ธนาคารแล้วเสร็จภายในระยะเวลาเพียง 1 วัน จากการกระทำในครั้งนั้น ธปท.ได้มีการประชุมร่วมกับพนักงานธนาคารศรีนคร โดยเล่าสาเหตุและเหตุผลให้พวกเขาฟัง เพราะถ้าหากปล่อยธนาคารแล้วจะทำให้ล้มละลายและทำให้พวกเขาตกงานได้ โดยพวกเขาต้องไปลาออกและสมัครงานที่ธนาคารนครหลวงไทยแทน ซึ่งพนักงานพอใจ ที่สามารถดำเนินการควบรวมธนาคารได้สำเร็จ
เมื่อถึงวันเปิดทำการหลังจากควบรวมทั้ง 2 ธนาคารแล้ว ยังคงเป็นชื่อธนาคารนครหลวงไทย โดยเงินฝากของธนาคารศรีนครกลายเป็นเงินฝากของธนาคารนครหลวงไทย ทุกอย่างดำเนินการได้อย่างราบรื่นในการควบรวมทั้ง 2 ธนาคารภายใน 1 วัน โดยที่ไม่มีประชาชนแห่ถอนเงินฝากแม้แต่บาทเดียว ส่วนพนักงานมีงานทำ ได้เงินเดือนและสวัสดิการเท่าเดิม จากการดำเนินการในครั้ง ทำให้ความรู้สึกของธนาคารที่มีต่อธปท.เปลี่ยนไปทันที ขณะเดียวกันวงการสถาบันการเงินสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วแบบที่คาดไม่ถึง และไม่ได้รับผลเสียต่อวงการสถาบันการเงินเลย ซึ่งผู้ที่ได้ทราบข่าวต่างให้ความพอใจ ถือเป็นการเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้ส่วนหนึ่ง
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวต่อวว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน 2545 กองทุนฟื้นฟูฯได้สรุปรายงานการแก้ไขปัญหาทางการเงิน โดยมีการใช้งบประมาณไป 1.4 แสนล้านบาท จากงบประมาณนี้มีการเกิดความเสียหายแล้วบางส่วน โดยนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เสนอต่อสภาให้ออกพันธบัตรช่วยล้างหนี้แล้ว 5 แสนล้านบาท โดยทยอยขายพันธบัตรราว 30,000-50,000 หมื่นล้านบาท ขณะที่ธปท.ออกพันธบัตรอีก 1.2 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้หนี้ เหลืออีก 7.8 แสนล้านบาท หากจะนำงบประมาณที่เหลือไปออกพันธบัตรได้มีเพียง 3 แสนล้านบาท เพราะเป็นการคำนวณจากงบประมาณที่เกิดจากความเสียหาย โดยเจ้าหน้าที่คลังมีการค้านในเรื่องนี้และยืนยันว่าไม่สามารถออกพันธบัตรนี้ได้สำเร็จ
“เราบอกว่าเราจะไม่ออกพันธบัตรแบบ Investment Bond แต่เราจะออกพันธบัตรแบบ Saving Bond เพราะอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรในช่วงนั้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เชื่อว่าขายได้แน่นอน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อและเห็นด้วยให้ธปท.รับไปดำเนินการ เมื่อเรารับเรื่องมา ได้เดินทางไปหาอาจารย์มหาบัว ซึ่งเป็นลูกศิษย์วัดนั้น เราเล่าว่าจำเป็นต้องนำพันธบัตรนั้นมาช่วยชาติ และให้ใช้ชื่อนี้เป็นชื่อในการออกพันธบัตร”
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวต่อวว่า ธปท.ได้หารือกับผู้จัดการสาขาสถาบันการเงินต่างๆ ในช่วงนั้นดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาว 6% ดอกเบี้ยเงินฝาก 4% หากธปท.ออกพันธบัตร 6%และให้ค่านายหน้าในการขายอัตราตามปกติคือ 1 สลึง ผู้จัดการสาขาสถาบันการเงินต่างๆ ยืนยันว่าสามารถขายพันธบัตรได้ โดยขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินทั้ง 4,000 สาขา เพื่อขายพันธบัตรทั่วประเทศให้หมด ซึ่งทางสถาบันการเงินต่างๆ ขอระยะเวลาเตรียมตัวก่อนออกพันธบัตรภายใน 1 เดือนครึ่ง
“การขายพันธบัตรทั้ง 3 แสนล้านบาทให้หมด เราก็กลัวเหมือนกัน หากขายไม่หมดตำแหน่งเราเท่ากับแขวนอยู่บนเส้นด้าย เพราะเรารับปากมาแล้ว แต่หากดำเนินการได้ประชาชนจะเชื่อมั่นในธปท.ขึ้นมาทันที ทำให้เรามีการนัดหารือบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ 6 แห่ง ช่วยนำเสนอข่าวในการออกพันธบัตรช่วยชาติ หากสามารถดำเนินการได้จะช่วยให้เครดิตประเทศชาติดีขึ้น ซึ่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ต่างรับปากจะช่วย“
เมื่อถึงวันที่เปิดขายพันธบัตร ได้รับรายงานจากสมาคมธนาคารว่าขายพันธบัตรไปแล้ว 2 แสนล้านบาท และเมื่อทำการขายพันธบัตรภายใน 2 วันหลังจากนั้นพบว่ามีการขายพันธบัตรหมดทั้ง 3 แสนล้านบาท เร็วกว่าแผนที่มีการกำหนดขายพันธบัตรแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ถือเป็นความสำเร็จเกินความคาดหมาย
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวต่อวว่า หลังจากที่มีการเปิดขายพันธบัตรหมด ทางสำนักผู้ว่าการฯ ได้มีการจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สำรวจความเชื่อมั่นประชาชนที่มีต่อธปท.อีกครั้ง จาก 2 เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้การสำรวจนั้น พบว่า ไม่เชื่อมั่นและศรัทธาอยู่ที่ 30% และความเชื่อมั่นกลับเพิ่มขึ้นเป็น 70%
“ในปี 2564 ธนาคารกรุงไทย มีเจ้าหน้าที่ธปท.เข้าไปตรวจสอบธนาคารกรุงไทยพบว่ามีการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ชอบมาพากล เป็นการหมุนเงินออกจากบริษัทรับกู้ไปใช้ที่อื่น ซึ่งผิดกฎหมาย ในที่สุดได้มีการฟ้องคณะกรรมการบริหาร เมื่อธปท.ตัดสินใจฟ้องปรากฎว่ามีกระบวนการที่จะปลดเราจากตำแหน่งผู้ว่าธปท.ให้ได้ ทั้งนี้กระบวนการนั้นมีการปล่อยข่าวในตลาดหลักทรัพย์ว่าผู้ว่าธปท.สั่งให้กองทุนฟื้นฟูขายหุ้นของธนาคารกรุงไทย ทำให้ประชาชนเชื่อและเทขายหุ้นกรุงไทยในช่วงนั้น ทำให้หุ้นธนาคารตกรวดเร็วจนถึงตลาดปิด โดยโยนความผิดว่าเป็นผู้ว่าธปท.ดำเนินการ เพื่อใช้เรื่องนี้ปลดออกจากตำแหน่ง”
ทั้งนี้ทางธปท.ได้เตรียมดำเนินการเต็มที่โดยแถลงข่าวเรื่องธนาคารกรุงไทยถึงกรณีที่ผู้ว่าธปท.สั่งกองทุนฟื้นฟูขายหุ้นกรุงไทยนั้นไม่เป็นความจริง ซึ่งมีการพูดถึงรายละเอียดของฐานะทางการเงินของธนาคารที่แข็งแรงมาก หลังจากที่มีการแถลงข่าวพบว่ามีการหยุดขายหุ้นธนาคารกรุงไทยทันที ทำให้หุ้นกลับมาอยู่ที่เดิม
อย่างไรก็ตามเมื่อถึงสิ้นปี ธปท.ได้มีการสำรวจความเชื่อมั่นประชาชนต่อธปท.อีกครั้งพบว่า ความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 90% ความไม่เชื่อมั่นอยู่ที่ 10%