นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ มีมติเป็นเอกฉันท์อนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 2,751,200,000 บาท จะส่งผลให้ทุนจดทะเบียนบริษัทฯ เพิ่มขึ้นเป็น 23,151,478,730 บาท จากเดิม 20,400,278,730 บาท
โดยจะดำเนินการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 275,120,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 10 บาท เพื่อ 1) จัดสรรและเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering: PO) จำนวนไม่เกิน 239,235,000 หุ้น
รวมการเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 80% ของหุ้นสามัญทั้งหมดที่ออกและเสนอขายในครั้งนี้
ทั้งนี้ จะไม่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้หรืออาจเป็นผลให้บริษัทฯ มีภาระหรือหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ และอาจพิจารณาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนบางส่วนให้แก่ประชาชนทั่วไปด้วย
และ 2) อาจพิจารณาจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อรองรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) เพื่อรองรับกระบวนการจัดสรรหุ้นส่วนเกินกว่าจำนวนที่จัดจำหน่าย (Over-Allotment) จำนวนไม่เกิน 35,885,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 15% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่เสนอขายครั้งนี้
สำหรับขั้นตอนต่อไป บริษัทฯ เตรียมยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขออนุมัติการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering: PO) สำหรับเดินหน้าตามแผนปรับโครงสร้างเงินทุนให้แข็งแกร่ง รองรับการขยายธุรกิจในอนาคต
พร้อมกันนี้ผู้ถือหุ้นได้มีมติอนุมัติการจำหน่ายหุ้นสามัญของ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) จำนวนทั้งสิ้น 304,098,630 หุ้น สัดส่วนประมาณ 10.78% ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ GPSC เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 22,351 ล้านบาท ให้แก่บมจ.ปตท. (PTT) และ/หรือ บริษัท สยาม แมนเนจเม้นท์ โฮลดิ้ง จำกัด (SMH)
ซึ่ง ปตท. ถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วน 100% โดยคาดว่าการทำธุรกรรมดังกล่าวจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/ 2565 อย่างไรก็ตาม ภายหลังการทำธุรกรรมแล้วเสร็จ ไทยออยล์จะยังคงมีสัดส่วนการถือหุ้นใน GPSC ไม่น้อยกว่า 10% ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ GPSC เพื่อรักษาผลตอบแทนที่จะได้จากธุรกิจไฟฟ้าตามแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของบริษัทฯ
นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนและปรับลดสัดส่วนการลงทุนใน GPSC ครั้งนี้ จะส่งผลดีต่อฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น โดยบริษัทฯ จะนำเงินที่ได้รับไปชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น (Bridging Loan) จากการเข้าลงทุนในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) บริษัทผู้ผลิตปิโตรเคมีสายโอเลฟินชั้นนำของประเทศอินโดนีเซีย
ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดอัตราส่วนระหว่างหนี้สินสุทธิต่อทุน (Net Debt-to-Equity Ratio) ให้อยู่ในระดับที่ไม่เกิน 1 เท่า อีกทั้งจะช่วยคงอันดับความน่าเชื่อถือด้านเครดิต (Credit Rating) ให้อยู่ในเกณฑ์กลุ่มระดับลงทุน (Investment grade) ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมต่อยอดและขยายธุรกิจในโครงการต่างๆ เพิ่มเติมจากธุรกิจการกลั่นน้ำมัน ไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Product) ธุรกิจพลังงาน และธุรกิจอื่นๆ ที่เป็น New S-Curve
นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า บริษัทฯ เตรียมแผนการลงทุนในปี 2564 - 2567 เป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 3,431 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยโครงการที่เป็นเป้าหมายสำคัญ ได้แก่
ทำให้ไทยออยล์ได้รับประโยชน์จากการต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าระหว่างทั้ง 2 โครงการ เนื่องจากสามารถส่งผลิตภัณฑ์จากโรงกลั่นของโครงการ CFP เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบให้กับ CAP ซึ่งจะช่วยเพิ่มทั้งความสามารถทางการแข่งขัน และเพิ่มอัตราการทำกำไรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น