อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนว 33.70 ก่อนจะกลับมาปิดตลาดในประเทศที่ระดับ 33.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.57 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทและสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย รวมถึงเงินเยนและเงินหยวน อ่อนค่าลง ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนอย่างต่อเนื่องจากการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการเร่งคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด ด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยพร้อมๆ กับลดงบดุลซึ่งจะเริ่มในเดือนพ.ค. เป็นต้นไป ทั้งนี้ปัจจัยที่ตลาดรอติดตามในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ประกอบด้วย ตัวเลข CPI และ PPI ของสหรัฐฯ และผลการประชุมนโยบายการเงินของ ECB
สำหรับทิศทางฟันด์โฟลว์ของต่างชาติในวันนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทยเพียง 743.46 ล้านบาท ขณะที่มีสถานะเป็น NET OUTFLOW ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 3,636 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตรไทย 436 ล้านบาท ขณะที่มีตราสารหนี้ที่หมดอายุ 3,200 ล้านบาท)
ส่วนค่าเฉลี่ย Indicative forward points ของธุรกรรมระยะ 3 เดือนสำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้ 50-200 ล้านบาทต่อปี รายงานข้อมูล ณ 10.00 น. วันที่ 12 เมษายน 2565 โดยธปท. อยู่ที่ -7.14 สำหรับผู้ส่งออก (ขายเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) และที่ -3.58 สำหรับผู้นำเข้า (ซื้อเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า)
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้าระหว่างวันที่ 18-22เมษายน 2565 คาดไว้ที่ 33.50-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกเดือนมี.ค. ของไทย สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย และทิศทางเงินทุนต่างชาติ
ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และดัชนีเบื้องต้นของ PMI เดือนเม.ย. ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนมี.ค. รายงาน Beige Book ของเฟด และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR เดือนเม.ย. ของธนาคารกลางจีน และข้อมูลเศรษฐกิจจีน อาทิ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/65 และตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีกเดือนมี.ค.