อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น จนอาจกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ธนาคารกลางต่างเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเฉพาะหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ยืนยันการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มีผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) ของสหรัฐปรับขึ้น และ Bond yield ไทยขยับขึ้นตาม ส่งผลให้ต้นทุนการออกหุ้นกู้ (Corporate bond yield) สูงขึ้นจากสิ้นปีที่ผ่านมา และเริ่มมีต้นทุนการกู้ยืมที่สูงกว่าก่อนโควิด-19 เล็กน้อย
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) คาดการณ์ว่า การเสนอขายหุ้นกู้เอกชนปีนี้จะทะลุ 1 ล้านล้านบาทเหมือนปี 64 ที่มียอด 1.3 ล้านล้านบาท เพื่อล็อคอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำไว้ เนื่องจากมองว่า มีโอกาสที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยจะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง
นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ผู้บริหารฝ่าย Investment and Markets Research สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ยอดคงค้างตราสารหนี้ไทยทำ new high ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน โดยตลาดตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 มียอดคงค้าง 15 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นจากสิ้นปี 2564 ที่ 14.7 ล้านล้านบาท หรือเพิ่ม 1.5% และเชื่อว่า อีกไม่เกิน 2-3 ปี จะเติบโตแซงหน้าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)ไทย
แนวโน้มการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ ทิศทางยังเป็นการเร่งออก เพื่อทดแทนหุ้นกู้รุ่นเก่าที่กำลังจะครบกำหนดรวมทั้งสำรองเป็นสภาพคล่องและค่าใช้จ่ายในการลงทุน เพื่อสร้างสินทรัพย์ระยะยาว แม้รายใหญ่ออกไปมากแล้ว แต่แนวโน้มยังจะออกใหม่ แต่มูลค่าอาจเล็กลง อย่างรายที่กำลังจะออกคือ CPALL, KTB และ BTSG
สำหรับตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยปีนี้ ผลการประมูลแต่ละครั้งยังไม่แข็งแรง ขณะที่เดือนหน้ากระทรวงการคลังจะออกพันธบัตรระยะยาวอีก สะท้อนซัพพลายขยายตัวต่อเนื่องสวนทางกับฝั่งดีมานด์ที่ทรุดตัวลง
นักลงทุนสถาบันมีกำลังซื้อน้อย ขณะที่บริษัทประกันชีวิต เบี้ยประกันยังไม่ขยายตัว อาจจะยังพอมีกำลังซื้อในกลุ่มสหกรณ์
ทั้งนี้ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาผลตอบแทนโดยรวมพันธบัตรรัฐบาลไทยติดลบไปแล้ว 4% จากปีที่แล้วติดลบ 5% หุ้นกู้เอกชนอายุ 3 ปีผลตอบแทนติดลบ 1.6% ซึ่งผลตอบแทนภาพรวมติดลบทั่วโลก นำโดยตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ดังนั้นตลาดพันธบัตรไทยยังคงอยู่ในภาวะหมีไปอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
“สถานการณ์เงินเฟ้อยังไม่สะท้อนว่า เงินเฟ้อไทยผ่านจุดสูงสุด แต่ครึ่งปีหลัง หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยไปหลายครั้ง เงินเฟ้ออาจจะทรงตัวหรือผ่านจุดเลวร้ายได้ ดังนั้นปลายปีนี้หรือต้นปี 2566 โอกาสที่ตลาดตราสารหนี้ไทยจะกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง”นายสงวนกล่าว
ขณะที่การลงทุนหุ้นกู้หรือซื้อบอนด์ในภาวะหมี เพื่อล็อคผลตอบแทนดอกเบี้ย จึงเป็นโอกาสของนักลงทุนธรรมดาที่มีเงินเย็นพร้อมจะถือบอนด์ยาวจนครบกำหนด แต่ไม่แนะนำซื้อเพื่อเอา Capital Gain เพราะตลาดยังไม่เข้าภาวะกระทิง
ส่วนต้นทุนดอกเบี้ยในการออกตราสารอายุ 2-5 ปี ช่วง3 เดือนของปีนี้สูงขึ้น 0.20-0.40% จากสิ้นปีก่อน แต่หากเทียบกับกลางปี 2563 ต้นทุนจะแพงกว่าปัจจุบันประมาณ 0.20-0.60% ทุกเซ็กเตอร์ ดังนั้นต้นทุนที่ปรับเพิ่ม สำหรับบริษัทรายใหญ่ที่มีความสามารถออกหุ้นกู้จะสามารถส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคโดยไม่น่ากระทบผู้ออกหุ้นกู้
“จริงๆ ตรงนี้ก็ยังถือว่า ต้นทุนยังต่ำกว่ากลางปี 2020 ซึ่งมีวิกฤติโควิดและตลาดหุ้นกู้ไม่ปกติ เวลานั้นแพงกว่าขณะนี้อยู่ราว 20-60bp ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ใครผ่านพ้นช่วงโควิดมาได้ มาถึงวันนี้ก็ไม่น่ามีปัญหา”นายสงวนกล่าว
นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb Analytics )กล่าวว่า แนวโน้มบริษัทขนาดใหญ่อาจจะหันมาใช้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์มากขึ้น เพราะความแตกต่างของดอกเบี้ยตลาดที่วิ่งขึ้น หรือส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยกับสหรัฐ (Yield Spread) แต่ดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์ไม่ได้วิ่งขึ้นตาม เห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ไม่เปลี่ยน แปลงตามดอกเบี้ยนโยบายของไทย ทำให้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ยังเติบโตได้ 5.5% โดยเฉพาะรายใหญ่
ทั้งนี้ หลังจากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ย จะเห็นว่า ต้นทุนในการออกพันธบัตรรัฐบาล อายุ 2-5 ปีปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วและแรงในเดือนที่แล้วอัตรา 0.25% ทำให้ Yield Curve ปรับสูงขึ้น ซึ่งการออกพันธบัตรรัฐบาลยังมีต้นทุนที่ขึ้นอยู่กับ Credit Spread เช่น หุ้นกู้ Investment Grade ที่ BBB ต้นทุนในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 4.57%
“ตอนนี้ถ้าออกพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปีดอกเบี้ยปรับมาอยู่ที่อัตรา 1.65% จาก 1.4% (ไม่รวมค่าพรีเมียมอื่น) สะท้อนต้นทุนที่รวม Credit Spread จะอยู่ในระดับอัตรา 5.65% จึงเชื่อว่า ความต้องการสินเชื่อจะไหลและเร่งให้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ยังเติบโตในระดับสูง ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ในปีที่แล้วโต 12.88%” นายนริศกล่าว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,775 วันที่ 17 - 20 เมษายน พ.ศ. 2565