เปิดกำไร10 แบงก์ไตรมาส1/65 โกย 5.33 หมื่นล้าน เหตุกันสำรองลด

22 เม.ย. 2565 | 01:35 น.
อัปเดตล่าสุด :22 เม.ย. 2565 | 09:39 น.

เปิดกำไรแบงก์ไทย 10 แห่ง ไตรมาส 1/65 โกย 53,335 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,709 ล้านบาท หรือ +14.38 % เป็นผลจากการตั้งสำรองลดลง การเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากการปล่อยสินเชื่อใหม่

ธนาคารพาณิชย์ไทย 10 แห่ง รายงาน ผลประกอบการไตรมาส 1/65 มีกำไรสุทธิรวมกัน 5.33หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.38 % เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 46,626ล้านบาท  ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น –การเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อใหม่

 

นำโดย “ซีไอเอ็มบีไทย” กำไรสูงถึง 211% เป็น 1,061ล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรเพียง 341ล้านบาท  รองลงมาคือ ธนาคารกรุงไทย(KTB)  57.4% เกียรตินาคิน( KKP)  40.5% ตามมาด้วย ทีเอ็มบีธนชาต(TTB) 14.8%  กรุงศรีอยุธยา (BAY) 14.0% กสิกรไทย(KBANK) 5.4% ธนาคารกรุงเทพ (BBL) 2.8% ทิสโก้(TISCO) 1.8% และธนาคารไทยพาณิชย์(SCBB)  เป็นต้น

10 แบงก์เปิดกำไร Q1/65 รวม 5.33 หมื่นล้านบาท เพิ่ม14.38%

CIMBTกำไรนำโด่ง

ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย(CIMBT) โชว์ไตรมาส 1 ปี 65 สูงสุดถึง 211%  ปัจจัยหลักมาจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้นส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 14% และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลง 64%

 

ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับลดลง 291.7ล้านบาทหรือ 14.0% อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย(NIM) อยู่ที่ 2.8%จาก 3.1%ช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งเป็นผลจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อและธุรกิจเช่าซื้อ  อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากลดลงเป็น 85.2% จาก 88.5%สิ้นปีก่อน

 

สินเชื่อด้อยคุณภาพหรือNPLs อยู่ที่ 8,400ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วน 3.8%ต่อเงินให้สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก3.7%เมื่อสิ้นปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 112%ลดลงจาก 117.5%

KTBกำไรเพิ่ม 57.4%

ธนาคารกรุงไทย (KTB) กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 8,780 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้รวมขยายตัวทั้งจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น5.6% จากสินเชื่อที่เติบโตโดยธนาคารมุ่งเน้นสินเชื่อที่มีคุณภาพท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน

ทั้งนี้ สินเชื่อรวมเติบโต 1.1%จากสิ้นปีก่อน การควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งลดลง  3.5% ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับ 41.25% ลดลงจาก 44.25%จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 5,470 ล้านบาท ซึ่งลดลง 32.1%  โดยมี NPLs Ratio อยู่ที่1.06แสนล้านบาทหรือ 3.34% ลดลงจาก 3.50% ณ สิ้นปีก่อน และลดลงจาก 3.66%ช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ดีอย่างต่อเนื่อง

 

พร้อมทั้งรักษาระดับของ Coverage ratio ในระดับสูงกว่าสถานการณ์ปกติ โดยเท่ากับ 173.6% เทียบกับ 168.8% ณ สิ้นปี 2564 และ 153.9%ช่วงเดียวกันปีก่อน ROEอยู่ที่ 9.87% เพิ่มขึ้นจาก 6.61%ช่วงเดียวกันปีก่อนทั้งนี้NIMอยู่ที่ 2.44%ลดลงจาก 2.50%ช่วงเดียวกันปีก่อน

 

KKPกำไรเพิ่ม 40.5%

สำหรับ KKP มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 40.5% โดยมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 12.4%  รายได้ไม่ใช่ดอกเบี้ยเพิ่ม 19.8%รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่ม 8.3% รายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจการให้สินเชื่อ

 

รวมถึงค่าใช้จ่ายการสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 1,066ล้านบาทที่ปรับลดลง 13.6% ซึ่งไตรมาสนี้KKPยังคงตั้งสำรองพิเศษเพิ่มเติมจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เป็นจำนวน151ล้านบาท โดยมีค่าเผื่อ ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 17,180 ล้านบาท

 

ขณะที่ สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต(Stage3หรือNPLs)อยู่ที่ 9,483ล้านบาทคิดเป็น 2.9%ของสินเชื่อรวมปรับลดลงจาก3.2% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย(NIM)อยู่ที่ 5.3%จาก5.4% สำหรับROEอยู่ที่ 16.1%จาก12.6%ช่วงเดียวกันปีก่อน

 

TTBตัดหนี้สูญ-ขายNPLs

ขณะที่ TTB อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE)อยู่ที่ 6.1% โดยธนาคารตั้งสำรองจำนวน 4,808 ล้านบาทลดลง 12.3% ส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับอยู่ที่ 42,144ล้านบาท ลดลง 2.9%จากแนวโน้มที่ดีในการชำระหนี้ของลูกค้าภายหลังหมดมาตรการความช่วยเหลือ และ ธนาคาร ได้ตัดหนี้สูญไปจำนวนประมาณ 2,600 ล้านบาทและขายออกหนี้NPLsราว 1,300 ล้านบาท ทั้งนี้ NIMอยู่ที่ 2.91%ปรับลดลงจาก 3.00%

 

BAY กำไรสุทธิเพิ่ม 14.0%

BAY มีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่ม 3.9%(คำนวณจาก16,158ล้านบาท -15,545ล้านบาท) การลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 6,783 ล้านบาท ลดลง531ล้านบาทหรือลดลง 7.3% จาก 7,314ล้านบาทและรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่ม 683ล้านบาทหรือ 3.6%เป็น 19,872ล้านบาทจาก19,189ล้านบาท เป็นปัจจัยหนุนการทำกำไรเพิ่ม 14%

 

ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ(NIM) 3.28% จาก 3.07% ด้านสินเชื่อด้อยคุณภาพ 46,796ล้านอัตราส่วน2.03%บาทเพิ่มขึ้น326ล้านบาทหรือ0.7%จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 46,470ล้านบาทคิดเป็นอัตราส่วน 1.99% มีอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ191.6% ปรับเพิ่มขึ้นจาก 175.0% และ ROE 9.25% ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ  8.94%

 

KBANK รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 12.86%

KBANKมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่ม 12.86%ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยการให้สินเชื่อใหม่ลูกค้าที่มีศักยภาพ   ตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้น686ล้านบาทหรือ 7.93% โดยมี NPLs Gross) 1.06แสนล้านบาทหรือ 3.78% เพิ่มขึ้น 3.93%

 

ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ(Coverage ratio) 158.33% จาก 153.98% ผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ(NIM)3.19% จาก 3.16%และกำไรสุทธิต่อส่วนของเจ้าของเฉลี่ย(ROE)9.30% จาก 9.57%

 

TISCOรักษาระดับROEอยู่ในระดับสูงถึง 17%

TISCOไตรมาส1/2565มีกำไรสุทธิเพิ่ม 1.8% มาจากค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น(ECL) ลดลง  โดยNPLs) จำนวน 4,386.38ล้านบาทหรือคิดเป็น 2.15%ลดลง 570.93ล้านบาทคิดเป็น 11.5% จาก 4,957.31ล้านบาทหรือคิดเป็น 2.44%

 

บริษัทจึงลดการตั้งสำรองลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้บริษัทมีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิต ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นรวมจำนวน 11,497.21 ล้านบาท ขณะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ(NIM)5.09%จาก4.66%ช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย(ROAE)อยู่ที่ 17.1%

 

BBLสินเชื่อ-เงินฝากเพิ่ม 9.2% 10.0%ตามลำดับ

ธนาคารกรุงเทพ (BBL)ไตรมาส 1 ปี 2565 มีกำไรสุทธิ 7,118 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน  รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 จากเงินให้สินเชื่อเพิ่ม 2.18แสนล้านบาทหรือ 9.2% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.11%

 

 ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง 1.6% ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 49.8% ทั้งนี้ ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 6,489 ล้านบาทธนาคารกรุงเทพ ยังคงดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ

 

สำหรับเงินให้สินเชื่อรวมที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตก่อนหักค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตฯ1.02แสนล้านบาท อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.3%ปรับลดลงจาก 1.08แสนล้านบาทหรือ3.7%

 

ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและเพิ่มขึ้นเป็น 229.0% ธนาคารมีเงินรับฝากเพิ่มขึ้น 2.9แสนล้านบาท หรือ10.0% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 81%

 

SCBBตั้งสำรองลดลง 12.6%

SCBB ตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตฯจำนวน 8,750ล้านบาท หรือ 1.51%ของสินเชื่อรวม ซึ่งตั้งสำรองฯลดลง 12.6%จากช่วงเดียวกันของปีก่อนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่ม5.9% สินเชื่อขยายตัว4.89หมื่นล้านบาทหรือ 2.1% ส่วนเงินฝากเติบโตเพิ่ม 1.55แสนล้านบาทหรือ 6.6%

 

ขณะที่NPLs Grossอยู่ที่ 1.06แสนล้านบาทหรือ 3.70% เพิ่มขึ้นจาก 1.04แสนล้านบาทหรือ 3.79% โดย ROEอยู่ที่ 9.1%ปรับลดลงจาก 9.7%ช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่NIMอยู่ที่ 3.04%จาก 3.01%

 

LHFGกำไรลด8.7%

สำหรับบริษัทแอลเอชไฟแนนซ์เชียล จำกัด (มหาชน) หรือ LHFG กำไรสุทธิปรับลดลง 8.7%โดยกำไรงวดนี้อยู่ที่ 511 ล้านบาทจาก 560ล้านบาทช่วงเดียวกันปีก่อน  เมื่อพิจารณากำไรสุทธิที่ลดลงของLHFG ในไตรมาส 1/65

 

สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นยังอยู่ในระดับสูง โดยธนาคารยังคงตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตฯอีก 509.3ล้านบาทซึ่งเพิ่มขึ้น 25.4%จาก ช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 406ล้านบาททั้งนี้ เพื่อรองรับการดำเนินกลยุทธ์ในปี2565 ที่ธนาคารเร่งขยายธุรกิจและขยายสินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้น

 

เห็นได้จากอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้วยคุณภาพ(Coverage Ratio) เพิ่มเป็น 187.4%แม้อัตราสินเชื่อด้อยคุณภาพ(NPLs) อยู่ในระดับต่ำ จำนวน 5,142.6ล้านบาทหรืออัตรา 2.54%ของเงินให้สินเชื่อรวมจำนวน 2.02แสนล้านบาท

 

ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ1,444.7 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 216.4ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 17.6% จาก 1,228.3ล้านบาท อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NIM) เท่ากับ 2.39%เพิ่มขึ้น จาก 2.21% จากช่วงเดียวกันปีก่อนและอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ย(ROE) 3.82%