อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.28 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง รวมถึงความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีน ยังอาจกดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลง
อีกทั้งล่าสุด เงินบาทได้อ่อนค่าทะลุแนวต้านเชิงจิตวิทยาที่เราเคยประเมินไว้ ทำให้บรรดาผู้ประกอบการทั้งฝั่งนำเข้าและส่งออกยังไม่แน่ใจว่าควรวางออเดอร์การทำธุรกรรมในจุดไหน
ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจทำให้ เงินบาทสามารถผันผวนและอ่อนค่าขึ้นไปทดสอบแนวต้านแถว 34.40 บาทต่อดอลลาร์ ได้ นอกจากนี้ โฟลว์ธุรกรรมทยอยซื้อทองคำเพื่อถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงนี้ ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่า
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.40 บาท/ดอลลาร์
ตลาดการเงินโดยรวมยังคงผันผวนหนักและอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงเดิมๆ ที่กดดันตลาดการเงินพร้อมกัน อาทิ ความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยที่อาจกดดันให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก
ปัญหาความไม่แน่นอนของสงคราม และความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีนที่อาจกดดันให้เศรษฐกิจจีนซบเซาหนัก ฉุดการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ซึ่งแม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด จะไม่ได้เลวร้ายมากนัก
อาทิ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ที่ไม่รวมเครื่องบินและอาวุธ (Core Durable Goods Orders) ยังสามารถขยายตัวได้มากกว่า 1.1% จากเดือนก่อนหน้าในเดือนมีนาคม หรือ ดัชนีภาวะภาคการผลิตอุตสาหกรรมของเฟด Richmond ในเดือนเมษายน ก็ยังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะซบเซาลงหนักหรืออาจเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
นอกจากนี้ แม้ว่ารายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนโดยรวมในฝั่งสหรัฐฯ จะออกมาดีกว่าคาด แต่ทว่า ความกังวลต่อแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทเทคฯ ขนาดใหญ่ ก็ได้กดดันให้บรรดาหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ต่างปรับตัวลดลง
อาทิ Microsoft -3.7%, Apple -3.7%, Alphabet (Google) -3.6% กดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดย ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -3.95% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -2.81% ทั้งนี้ เรามองว่า ตลาดการเงินอาจยังคงผันผวนหนักและรายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาด อาจทำได้เพียงช่วยชะลอการปรับฐานรุนแรง
จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะรับรู้ถึงความชัดเจนของแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนพฤษภาคม โดยเฉพาะโอกาสที่เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ติดกันในการประชุมครั้งถัดไป หรือ โอกาสที่เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้มากกว่า 0.50% ในการประชุมแต่ละครั้ง
ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 ปรับตัวลงต่อเนื่องกว่า -0.96% จากความกังวลผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจจีนอาจซบเซาหนัก รวมถึงปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงร้อนแรงอยู่
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงเทขายหุ้นเทคฯ เช่นเดียวกันกับในฝั่งสหรัฐฯ ASML -3.3%, Infineon Tech. -3.2% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันดิบรีบาวด์ขึ้น
ทางด้านตลาดบอนด์นั้น ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวนและปิดรับความเสี่ยงได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อเนื่องสู่ระดับ 2.75% และมีโอกาสที่บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ จะยังแกว่งตัว sideways จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะรับรู้ถึงแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดในการประชุมเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 102.3 จุด หนุนโดยความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven)
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงิน ซึ่งการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้กดดันให้สกุลเงินส่วนใหญ่ปรับตัวอ่อนค่าลง อาทิ เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าต่อเนื่องแตะระดับ 1.064 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ก็อ่อนค่าแตะระดับ 1.257 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ในขณะที่เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) เริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง โดยเงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าแตะระดับ 127.3 เยนต่อดอลลาร์ จากส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่แคบลง
รวมถึงความต้องการถือเงินเยนเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในระยะสั้นท่ามกลางความผันผวนในตลาด ทั้งนี้ แม้ผู้เล่นในตลาดจะต้องการถือทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ทว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์และแนวโน้มเฟดเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดยังคงกดดันให้ ราคาทองคำไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้เร็ว โดยราคาทองคำปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 1,905 ดอลลาร์ต่อออนซ์
อย่างไรก็ดี เราคาดว่าผู้เล่นบางส่วนอาจต้องการถือทองคำเพื่อรับมือกับความผันผวนในตลาดการเงิน ทำให้แนวโน้มราคาทองคำยังมีโอกาสแกว่งตัว sideways เหนือระดับ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมทยอยซื้อทองคำดังกล่าวก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่าเช่นกัน
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะยังคงรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยผลประกอบการที่ดีกว่าคาดอาจพอช่วยพยุงไม่ให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐานรุนแรงไปมากกว่าเดิมได้
แต่รายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาดในครั้งนี้ อาจยังไม่สามารถช่วยให้ตลาดกลับมากล้าเปิดรับความเสี่ยงในระยะนี้ได้ จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะรับรู้แนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดในการประชุมเดือนพฤษภาคม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 5 ปีครั้งใหม่ที่ 34.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ (เป็นระดับที่อ่อนค่าสุดนับตั้งแต่ เดือนพ.ค. 2560) อ่อนค่าต่อเนื่องจากเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.22 บาทต่อดอลลาร์ฯ
โดยเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่า สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งท่ามกลางกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการเร่งคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด
ประกอบกับมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากแรงซื้อในฐานะที่เป็นสกุลเงินปลอดภัยในช่วงที่ตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน
เงินบาทที่อ่อนค่ายังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องในระยะนี้ อย่างไรก็ดี ธปท. ระบุวานนี้ว่า จะติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และพร้อมจะเข้าดูแลหากเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากเกินไป
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ คาดไว้ที่ 34.20-34.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินหยวน สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย สัญญาณฟันด์โฟลว์ ข้อมูลกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. ของจีน และยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนมี.ค. ของสหรัฐฯ