เปิดทริควางแผนการเงินแต่ละช่วงวัย วัยทำงาน สู่วัยเกษียณ และโสดรุ่นใหญ่

29 เม.ย. 2565 | 01:59 น.
อัปเดตล่าสุด :29 เม.ย. 2565 | 09:01 น.

ในแต่ละช่วงชีวิตล้วนมีโจทย์ที่ต้องเผชิญ มีเรื่องที่ต้องมุ่งเน้นและให้ความสำคัญที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเตรียมและวางแผนการเงินที่สอดคล้องกับแต่ละช่วงชีวิต จะเป็นแผนที่นำทางที่ช่วยให้สามารถผ่านแต่ละช่วงชีวิตไปได้อย่างมั่นคง

บทความ"ช่วงชีวิตเปลี่ยน แผนการเงินต้องเปลี่ยน" โดย รัฐพล วชิรเมฆากุล นักวางแผนการเงิน CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย ได้แนะนำทริค การเตรียมความพร้อมวางแผนการเงิน ในแต่ละช่วงวัยไว้อย่างน่าสนใจ เนื้อหาดังนี้

 

วัยเริ่มต้นทำงาน

 

ช่วงวัยเริ่มต้นทำงานและเรียนรู้การใช้ชีวิต ภาระทางการเงินยังไม่มาก แต่เป็นช่วงสำคัญที่สุดสำหรับการวางรากฐานการเงินที่ดีในอนาคต จึงควรเริ่มวางแผนการเงินอย่างละเอียดที่สุด

 

1. วางแผนชีวิต ชีวิตไม่ควรปล่อยให้ชีวิตเป็นไปตามยถากรรมโดยไม่มีเป้าหมาย ต้องรู้จักตัวเองและตั้งเป้าหมายในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรและจะจัดสรรการเงินอย่างไร
 

  • การมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน ควรมีอย่างน้อยๆ 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือนสำหรับพนักงานประจำ และ 6 – 12 เดือนสำหรับอาชีพอิสระหรือเจ้าของกิจการ

 

  • การศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ควรถามตัวเองว่าต้องการศึกษาต่อด้านใด เป็นสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศ ใช้งบประมาณเท่าใด ซึ่งการเลือกว่าจะศึกษาด้านใดก็ควรสอดคล้องกับเป้าหมายการทำงานของตัวเองด้วย

 

  • การซื้อที่อยู่อาศัย ต้องเลือกให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของตัวเอง เลือกทำเลที่ตั้ง โดยจะเป็นบ้านเดี่ยวหรือคอนโดมิเนียม และงบประมาณเท่าใด

 

  • การตั้งเป้าหมายการเงินอื่นๆ เช่น อยากมีเงินออม 1 ล้านบาท ภายใน 10 ปี โดยตั้งใจจะลงทุนอย่างสม่ำเสมอในรูปแบบ DCA อย่างน้อยเดือนละ 5,000 บาท และจะลงทุนเพิ่มเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นต้น
     

   

2.วางแผนรายได้ค่าใช้จ่าย จัดทำงบประมาณรายเดือนล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี และพยายามอย่าก่อหนี้ โดยเฉพาะหนี้การบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
 

3.วางแผนบริหารความเสี่ยง แน่นอนว่าทุกคนคงไม่สามารถมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินสำหรับทุกๆ ความเสี่ยงได้ ดังนั้น จึงควรจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง ด้วยการเปรียบเทียบระหว่างความคุ้มครองที่ต้องการในแต่ละด้าน เช่น ตกงาน ขาดรายได้ อุบัติเหตุ เสียชีวิต ค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น กับความคุ้มครองที่มีอยู่แล้ว เช่น เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน ประกันชีวิต สินทรัพย์สภาพคล่องอื่นๆ สวัสดิการจากนายจ้าง และเมื่อคำนวณแล้วหากติดลบ แปลว่า ความคุ้มครองยังไม่เพียงพอ ก็ควรพิจารณาวางแผนการเงินเพิ่มเติม

 

4. วางแผนเกษียณอายุ เป็นเงินก้อนใหญ่สุดในชีวิตที่ต้องเก็บออม เพราะเมื่อถึงวันเกษียณ รายได้จะลดลงหรือไม่มี จึงควรวางแผนว่าต้องการใช้เงินเท่าใดหลังเกษียณ โดยประเด็นที่สำคัญ คือ ยิ่งวางแผนเร็วเท่าไหร่ ยิ่งทำให้มีเวลาลงทุนนานเท่านั้น และสามารถจัดพอร์ตเพื่อคาดหวังผลตอบแทนให้สูงขึ้นได้อีกด้วย

 

5. ศึกษาเรื่องภาษี ในช่วงเริ่มต้นชีวิตการทำงาน รายได้อาจยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี แต่ควรศึกษาไว้ อย่างน้อยก็รู้ว่ารายได้ขั้นต่ำเท่าใดจึงจะต้องยื่นภาษี เพราะเมื่อถึงเวลาที่ต้องเสียภาษีจะสามารถยื่นภาษีได้ถูกต้อง ไม่ติดขัด

 

พ่อแม่ลูกอ่อน

 

เป็นช่วงเริ่มต้นชีวิตครอบครัว เป็นช่วงที่มีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน มีรายได้สูงขึ้น แต่ภาระความรับผิดชอบทางการเงินก็สูงตามไปด้วย เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับลูก ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายครอบครัว ซึ่งงบประมาณหลายอย่างก็สามารถประมาณการและจัดการได้ แต่ค่าใช้จ่ายบางอย่างก็ประมาณการได้ยาก จึงมีวิธีการจัดการที่แตกต่างกัน


 
 

1.วางแผนการศึกษาของลูก เป็นค่าใช้จ่ายที่สามารถประมาณการได้ จึงควรทำงบประมาณคร่าวๆ ว่าควรมีเท่าใด โดยการแบ่งออกเป็นแต่ละช่วงวัย เช่น เรียนระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และปริญญาตรี นอกจากต้องจัดเตรียมเงินออมแล้ว ควรทำประกันให้เพียงพอกับงบประมาณ เผื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็ยังมีเงินให้ลูกเรียนหนังสือต่อได้
 

2.บริหารรายได้ค่าใช้จ่าย ในช่วงวัยนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากพอสมควร และอาจเกินงบประมาณโดยไม่รู้ตัว จึงควรจัดทำรายการรายได้ค่าใช้จ่าย จัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม และคอยสังเกตการใช้จ่ายสม่ำเสมอ
 

3. ปรับเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน เมื่อความรับผิดชอบทางการเงินสูงขึ้น เงินสำรองเผื่อฉุกเฉินก็ควรปรับเพิ่มให้เหมาะสมตามไปด้วย เช่น ควรมี 12 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน
 

4. ปรับความคุ้มครองชีวิต ควรทบทวนและปรับเพิ่มความคุ้มครองชีวิต ทุพพลภาพ และเผื่อโรคร้ายแรงไว้ให้เหมาะกับความรับผิดชอบทางการเงินด้วย
 

5. วางแผนผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หากต้องย้ายบ้าน ปรับปรุงบ้าน หรือซื้อรถใหม่ เพื่อให้เหมาะกับการมีครอบครัว จึงควรปรับแผนการเงินเพื่อให้เหมาะกับความสามารถทางการเงินในการรับภาระหนี้ผ่อนบ้านและผ่อนรถ
 

6. วางแผนเกษียณ ยังคงต้องให้ความสำคัญ หมั่นทบทวนความคืบหน้าและเป้าหมายการเกษียณ รวมถึงระมัดระวังค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและอาจจะกระทบต่อการออม ที่สำคัญหากไม่มีการออมเพิ่มก็ไม่ควรถอนเงินที่เก็บไว้เพื่อเกษียณออกมาใช้จ่าย
 

ครอบครัวลูกวัยรุ่น

 

เป็นช่วงชีวิตที่เริ่มสบาย ภาระทางการเงินเริ่มลดลง ขณะที่รายได้อยู่ในระดับสูง ชีวิตมีความมั่นคงที่สุด ดังนั้น หากวางแผนการเงินมาเป็นอย่างดีก็จะเห็นผลชัดเจนในช่วงนี้ สำหรับประเด็นแผนการเงินที่ควรบริหาร ได้แก่

 

1.ลดหนี้และปิดหนี้ การลดภาระหนี้ลงได้ ไม่เพียงแต่ทำให้ภาระทางการเงินลดลง ยังทำให้เกิดความสบายใจอีกด้วย ดังนั้น หากมีเงินออมเหลือก็ควรนำมาเคลียร์หนี้เพื่อให้หนี้หมดเร็วขึ้น ที่สำคัญหากไม่จำเป็นก็ไม่ควรก่อหนี้ใหม่
 

2.ปรับพอร์ตลงทุนเพื่อการเกษียณ เมื่ออายุมากขึ้นหรือกำลังเกษียณ ควรปรับพอร์ตลงทุนให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ และลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้น
 

3.เริ่มศึกษากลยุทธ์การบริหารเงินหลังเกษียณ ควรเริ่มศึกษากลยุทธ์ในการบริหารเงินก้อนโตหลังเกษียณ เพื่อให้เหมาะกับการใช้ชีวิตและมีเงินใช้เพียงพอไปตลอดชีพ เช่น หาช่องทางการลงทุนให้เงินต้นมีความปลอดภัยมากที่สุด

 

โสดรุ่นใหญ่ ไม่มีลูก

 

หากวางแผนการเงินมาดี คนโสดรุ่นใหญ่และไม่มีลูกจะมีความมั่นคงทางการเงินที่สุด โดยประเด็นที่ควรวางแผนการเงิน ได้แก่

 

1.เคลียร์หนี้ก่อนเกษียณ ก่อนถึงวันเกษียณควรจัดการหนี้สินให้หมด เพื่อให้มีอิสระในการใช้ชีวิตอย่างที่ตั้งใจ
 

2.ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง นอกจากแผนการเงินที่ดีแล้ว ก็ต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีด้วย อย่าลืมว่าเมื่ออยู่ตัวคนเดียว ไม่มีใครดูแล ก็ต้องหมั่นออกกำลังกาย กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ และบริหารจิตใจให้ดีอย่างสม่ำเสมอ
 

3.วางแผนการใช้เงินหลังเกษียณ การใช้ชีวิตคนเดียวอาจมีโอกาสใช้เงินอย่างไม่ระมัดระวัง จึงควรวางแผนการใช้เงิน เช่น ทำงบประมาณในแต่ละด้านของแต่ละเดือน และวางกลยุทธ์การบริหารเงินลงทุนในช่วงเกษียณเพื่อให้มีเงินไว้ใช้จ่ายอย่างเพียงพอไปตลอดชีวิต
 

4.ทบทวนประกันสุขภาพ ควรพิจารณาการทำประกันสุขภาพ เพราะจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ทั้งในยามที่เจ็บป่วยแบบฉุกเฉิน เป็นความสะดวกในการรักษาจากโรงพยาบาลที่ทำประกันไว้ ที่สำคัญช่วยคลายความกังวลว่าค่ารักษาพยาบาลอาจจะไม่เพียงพอ
 

จะเห็นว่า ในแต่ละช่วงชีวิตมีประเด็นทางการเงินที่ต้องวางแผนหรือทบทวนในรายละเอียดที่แตกต่างกัน อาจมองว่าการวางแผนการเงินตามแต่ละช่วงชีวิตมีหลายประเด็น แต่ก็ไม่ยากเกินที่จะจัดการ ที่สำคัญหากวางแผนมาดีตั้งแต่เนิ่นๆ และติดตาม ทบทวนแผนสม่ำเสมอ รับรองมีเงินใช้ไปตลอดชีวิต

 

ที่มา: www.setinvestnow.com, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย,สมาคมนักวางแผนการเงินไทย