อัตราแลกเปลี่ยนค่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.46 บาทต่อดอลลาร์ "อ่อนค่า"ลง จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.22 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิด ณ วันที่ 29 เมษายน)
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ปัญหาการระบาดของโอมิครอนในจีน รวมถึงปัญหาสงครามที่ยังยืดเยื้อและความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายยังคงกดดันให้ตลาดการเงินโดยรวมปิดรับความเสี่ยง
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ที่อาจส่งผลต่อทิศทางตลาดการเงินในช่วงนี้ได้ นอกจากนี้ ตลาดจะยังคงติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยหากผลประกอบการส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ตลาดหุ้นโดยรวมอาจเริ่มทรงตัวได้
โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้
ฝั่งสหรัฐฯ : ไฮไลท์สำคัญในสัปดาห์นี้จะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด โดยเราคาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% สู่ระดับ 0.75%-1.00% เพื่อย้ำจุดยืนของเฟดในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ในจังหวะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะตลาดแรงงาน นอกจากนี้ เราคาดว่าเฟดจะเปิดเผยรายละเอียดแผนการลดงบดุล (Quantitative Tightening) ซึ่งอาจเริ่มต้นในเดือนหน้า
อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟดโดยเฉพาะ 1.มุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เพิ่มสูงขึ้น
2.แนวทางการควบคุมทั้งเงินเฟ้อและตลาดแรงงานของเฟดที่จะไม่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
3.โอกาสในการเร่งขึ้นดอกเบี้ย อาทิ 0.75% ในการประชุมครั้งถัดๆไป และจุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้ (Terminal Rate) และ
4.ผลกระทบจากการทำ QT ของเฟดต่อตลาดการเงิน นอกเหนือจากผลการประชุมเฟด ตลาดจะจับตาแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ โดย ISM (Services PMI) เดือนเมษายน ซึ่งตลาดมองว่าอาจเพิ่มขึ้นแตะระดับ 58.5 จุด สะท้อนถึงการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ นอกจากนี้ ตลาดมองว่า ภาพรวมตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งอยู่ โดยยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อาจเพิ่มขึ้นกว่า 4 แสนราย ส่วนอัตราว่างงาน (Unemployment) ยังอยู่ในระดับต่ำราว 3.6% ซึ่งภาวะตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและมีความต้องการแรงงานที่สูงนั้นจะช่วยหนุนให้รายได้เฉลี่ย (Average Hourly Earnings) โตขึ้นกว่า +5.5%y/y
ฝั่งยุโรป : ผลกระทบจากสงครามที่ส่งผลให้เงินเฟ้อในฝั่งยุโรปพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและกดดันความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะส่งผลให้ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ยูโรโซนในเดือนมีนาคม หดตัว -0.2% จากเดือนก่อนหน้า กดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจในระยะสั้น อนึ่ง แม้ว่าแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจในฝั่งยุโรปอาจเผชิญแรงกดดันจากปัญหาสงคราม ทว่าในฝั่งอังกฤษ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.00% เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ BOE อาจประเมินว่าการเติบโตเศรษฐกิจอาจชะลอลง แต่ปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจะทำให้ BOE ทยอยขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ในอนาคต
ฝั่งเอเชีย : ตลาดมองว่าธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) จะเป็นอีกธนาคารกลางในเอเชียที่จะสามารถทยอยขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น ท่ามกลางเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทะลุกรอบเป้าหมายของ RBA โดย RBA จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.15% สู่ระดับ 0.25% และมีแนวโน้มส่งสัญญาณทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปีนี้ ส่วนในฝั่งจีน ผลกระทบจากการใช้มาตรการ Zero COVID เพื่อควบคุมการระบาดโอมิครอนจะกดดันให้ภาคการบริการซบเซาหนัก โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Caixin Services PMI) เดือนเมษายนอาจลดลงสู่ระดับ 40 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว)
ฝั่งไทย : ผลกระทบจากปัญหา Supply Chain Disruption และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีน อาจกดดันให้การขยายตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรมชะลอลงในเดือนเมษายน ชี้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) ที่จะลดลงแตะระดับ 51.3 จุด นอกจากนี้ปัญหาดังกล่าว รวมถึงภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจะกดดันความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเช่นกัน โดยดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Sentiment) อาจลดลงสู่ระดับ 50 จุด ส่วนในด้านระดับราคาสินค้าผู้บริโภคหรือระดับเงินเฟ้อนั้น เรามองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนเมษายน อาจชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนสู่ระดับ 5.4% หลังราคาสินค้าพลังงานทรงตัว
ทว่าราคาอาหารส่วนใหญ่อาจปรับตัวสูงขึ้น (ระดับราคาสินค้าโดยรวม +1.1%m/m) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) จะอยู่ที่ระดับ 2.0% ทั้งนี้ เราคาดว่าระดับเงินเฟ้อที่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังไม่กดดันให้ ธปท. ต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยตามธนาคารกลางอื่นๆ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้ายังไม่ได้กระจายเป็นวงกว้าง
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนในฝั่งอ่อนค่าและมีโอกาสทดสอบแนวต้าน “34.50” บาทต่อดอลลาร์ จากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟดและโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ทั้งนี้ ควรติดตามทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เพราะ แรงซื้อสินทรัพย์ไทยโดยเฉพาะหุ้นไทยอาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท อนึ่ง เราเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติอาจจะรอผลการประชุมเฟดก่อนมีการปรับสถานะถือครองที่ชัดเจน
ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ทั้งความเสี่ยงสงคราม ปัญหาการระบาดของโอมิครอนในจีน และความกังวลเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินเฟด เราแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เราประเมินว่า เงินดอลลาร์อาจย่อตัวลงได้ หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณว่าเฟดจำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75% ในอนาคต ทั้งนี้ ตลาดจะรอดูมุมมองของเฟดต่อระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด หรือ Terminal Rate ที่ตลาดมองไว้สูงถึงระดับ 3.75% ซึ่งหากเฟดไม่ได้มองว่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้สูงถึงระดับดังกล่าวก็อาจทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลง กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้บ้าง อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ เงินดอลลาร์ยังคงมีแรงหนุนจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาการระบาดของโอมิครอนในจีนที่ช่วยทำให้ สกุลเงินยุโรป อาทิ เงินยูโร (EUR) เงินปอนด์ (GBP) รวมถึงสกุลเงินฝั่งเอเชีย อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.10-34.60 บาท/ดอลลาร์
ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.35-34.55 บาท/ดอลลาร์
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทอ่อนค่ากลับมาที่ระดับ 34.43-34.46 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.40 น.) เทียบกับที่ปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ที่ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ (ท่ามกลางแรงซื้อคืนเงินบาทเพื่อปรับโพสิชันก่อนช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์) ทั้งนี้เงินบาทและสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียขยับอ่อนค่าลงอีกครั้ง สวนทิศทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ยังมีแรงหนุนต่อเนื่องจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ขณะที่ตลาดรอติดตามการประชุมเฟด (3-4 พ.ค.) ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% พร้อมๆ กับเริ่มปรับลดงบดุล
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 34.35-34.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน สัญญาณฟันด์โฟลว์ ผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนมี.ค. และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนมี.ค.