ช่วงกลางปีที่แล้ว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน บรรลุข้อตกลงกับสภาคองเกรสในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ของสหรัฐฯ วงเงินรวม 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่จีนพี่ใหญ่ฝั่งเอเชียก็ไม่น้อยหน้ามีการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางถนนและทางน้ำในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ไปกว่า 5.12 แสนล้านหยวน ซึ่งเพิ่มขึ้น 11.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ถ้ารวมสหภาพยุโรป(อียู) ทีมีแผนใช้งบประมาณกว่า 3 แสนล้านยูโร หรือกว่า 11.4 ล้านล้านบาทในการก่อสร้างเครือข่ายเส้นทางการค้าข้ามทวีปด้วยแล้ว แนวโน้มการกลับมาใช้งบประมาณ เพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคของประเทศพัฒนาแล้วและจีนกำลังนำเม็ดเงินมหาศาลและการเติบโตมาสู่ระบบโครงสร้างพื้นฐาน
การพัฒนาและขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐาน ในหลายประเทศส่งสัญญาณให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณูปโภค โทรคมนาคม ทางด่วน น้ำประปา
นอกจากนี้ผลงานของกองทุน Global infrastructure ในช่วง1-3 ปีที่ผ่านมายังสามารถสร้างผลตอบแทนได้น่าสนใจ สอดคล้องกับการเป็น inflation hedge และสามารถสร้างรายได้สม่ำเสมอในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำ
สำหรับ 5 อันดับผลการดำเนินงานกองทุน global infrastructure คือ
แนวโน้มการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น "นันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส" Chief Investment Officer สายการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัดบอกว่า สถานการณ์การลงทุนโลกตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมากล่าวได้ว่า มีความผันผวนค่อนข้างสูงจากความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อและทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาการแพร่ระบาด Covid-19 ในจีนที่ส่งผลให้มีการปิดเมืองใหญ่ๆหลายเมือง
รวมไปถึงความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน แม้ว่าระยะหลังความขัดแย้งดังกล่าวมีน้ำหนักกดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นโลกน้อยลง แต่ยังเป็นประเด็นที่ตลาดหุ้นให้น้ำหนักอยู่
จากเหตุการณ์ต่างๆ ทำให้ตลาดหุ้น ตราสารหนี้ มีแรงเทขายจากนักลงทุนค่อนข้างมาก ยกเว้นกลุ่มสินทรัพย์ที่เป็นการลงทุนทางเลือก เช่น น้ำมัน ทองคำ และ กลุ่ม Infrastructure ที่ยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวกได้ เนื่องจากสินทรัพย์กลุ่มนี้มักจะให้ผลตอบแทนที่มีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับอัตราเงินเฟ้อ กล่าวคือเป็นสินทรัพย์ที่ใช้เป็น Inflation hedging ในช่วงที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง
นอกจากนี้สินทรัพย์กลุ่ม Infrastructure ยังได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวหลังจากการแพร่ระบาด Covid-19 ที่สอดคล้องกับ Reopening theme ในหลายๆประเทศทั่วโลก และสามารถส่งผ่านราคาต้นทุนที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นไปยังผู้บริโภคได้
ผลกระทบจากความเสี่ยงที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นต่อการลงทุนในกลุ่ม Global infrastructure มีค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ โดยวัดจาก อัตราผลตอบแทนของดัชนี S&P Global Infrastructure Index ที่สะท้อนถึงผลตอบแทนของ Infrastructure ที่จดทะเบียนในหลายภูมิภาคทั่วโลกจำนวนกว่า 75 แห่ง ซึ่งดัชนีดังกล่าวมีผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม อยู่ที่ 5.79% ซึ่งมีผลตอบแทนที่เป็นบวก ในขณะที่ผลตอบแทนในตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ มีผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีที่ติดลบ
ภาพรวมเงินเฟ้อ การฟื้นตัวจากโควิด-19 และการลงทุนภาครัฐในหลายประเทศน่าจะส่งผลดีต่อการลงทุนในกลุ่มกองทุนนี้ แล้วจังหวะนี้เหมาะที่จะเข้าลงทุนเพิ่มหรือไม่ นันท์มนัส บอกว่า ถ้านักลงทุนที่ยังไม่มีการลงทุนลักษณะนี้สามารถทยอยลงทุนได้ ซึ่งการลงทุนในกลุ่มนี้เหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลางถึงสูง ควรมีน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มนี้โดยทั่วไปประมาณ 10-20% ของพอร์ตที่เน้นการลงทุนในระยะยาว
ขณะที่นักลงทุนที่มีการลงทุนในกลุ่มกองทุนนี้อยู่แล้ว ตามมุมมองของ SCBAM ในระยะสั้นถึงกลางยังให้น้ำหนัก Overweight นักลงทุนที่มีการลงทุนอยู่แล้วสามารถเพิ่มน้ำหนักการลงทุนได้ตามสัดส่วนที่เราแนะนำ อย่างไรก็ตามนักลงทุนควรเน้นเป็นการลงทุนระยะยาว คำนึงถึงการกระจายความเสี่ยง และสินทรัพย์โดยรวมของพอร์ตการลงทุนของท่านเป็นสำคัญ ไม่ควรมีการกระจุกตัวในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป
"หากมองในระยะต่อไปข้างหน้า การลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ประเภท Infrastructure ยังมีความน่าสนใจ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน และเป็นสินทรัพย์ที่เป็น inflation hedge ซึ่งเหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้"นางนันท์มนัสกล่าว
สำหรับกองทุน SCB Global Infrastructure Fund (SCBGIF) เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในกองทุนหลัก DWS Invest Global Infrastructure โดยกองทุนหลักมุ่งเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีอัตราผลตอบแทนเคลื่อนไหวไปกับทิศทางอัตราเงินเฟ้อ เช่น การลงทุนในธุรกิจพลังงาน รวมถึงหลักทรัพย์ได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง เช่น สนามบิน, ทางด่วน, และธุรกิจคมนาคม อื่นๆ แม้ในช่วงเศรษฐกิจมีการขยายตัวต่ำ กองทุนยังสามารถสร้างผลตอบแทนจากกระแสเงินสดได้อย่างสม่ำเสมอจากการลงทุนในกลุ่มธุรกิจไฟฟ้า น้ำประปา และ ระบบเครือข่ายโทรคมนาคม
อีกหนึ่งผลประโยชน์จากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้คือช่วยเป็นการกระจายความเสี่ยง เนื่องจากการอัตราผลตอบแทนของการลงทุนใน infrastructure มีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ที่ค่อนข้างต่ำ (Low correlation)
สรุปแล้ว Global infrastructure ถือเป็นกลุ่มกองทุนอีกประเภทที่น่าสนใจที่นักลงทุนควรมีติดพอร์ตเอาไว้ และยังสามารถเข้าลงทุนหรือเพิ่มน้ำหนักได้ถึงแม้จะปรับตัวขึ้นมาระดับหนึ่งแล้วตามคำแนะนำข้างต้น อย่างไรก็ตามก่อนตัดสินใจลงทุนนักลงทุนควรดูแลรายละเอียดและนโยบายการลงทุนของแต่ละกองทุนด้วยเช่นกัน เพราะจะมีความแตกต่างในเรื่องกลยุทธ์การลงทุนทำให้หน้าตาของหุ้นในพอร์ตอาจแตกต่างกันออกไปบ้าง