10 พฤษภาคม 2565 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบมาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมสำหรับทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีข้อกำหนดในการซื้อทรัพย์สินคืน เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการและลดภาระให้แก่ภาคธุรกิจและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้อย่างต่อเนื่องซึ่งเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการดังกล่าว โดยครม.ได้อนุมัติในหลักการกฎหมาย 3 ฉบับ ประกอบด้วย
1.ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับการขายทรัพย์สินให้แก่ทรัสตี ของกองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืน จากเดิมที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 20 ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ภาษีธุรกิจเฉพาะร้อยละ 3.3 และอากรแสตมป์ร้อยละ 0.5
2.ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับกรณีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของกองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืน
3.ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สำหรับกรณีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของกองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืน ซึ่งเป็นการลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ในอัตราร้อยละ 0.001 จากเดิมร้อยละ 2
สำหรับมาตรการนี้จะเป็นแนวทางการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รูปแบบหนึ่ง โดยที่ผู้ประกอบการไม่สูญเสียความเป็นเจ้าของทรัพย์โดยผู้ประกอบการจะโอนทรัพย์สินให้แก่กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีข้อกำหนดในการซื้อทรัพย์สินคืน ภายใน 2 ปีนับแต่กฎหมายมีผลบังคับ
พร้อมกับมีสัญญาในการโอนทรัพย์สินกลับคืนภายใน 5 ปี โดยระหว่างที่ทรัพย์สินยังอยู่กับกองทรัสต์ฯ นี้ผู้ประกอบการก็ยังสามารถเช่าทรัพย์สินดังกล่าวกลับไปประกอบธุรกิจได้ซึ่งมาตรการที่ ครม. อนุมัติในครั้งนี้ก็จะเข้าไปมีส่วนช่วยในการลดภาระภาษี ทั้งภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ที่เกิดขึ้นจากการโอนทรัพย์สินระหว่างผู้ประกอบการซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ และกองทรัสต์ฯ นางสาวไตรศุลี รองโฆษกฯ ระบุ
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังรายงานว่า ขณะนี้มีกองทรัสต์ฯ ที่มีความสนใจในการลงทุนอยู่จำนวน 8 กอง โดยสนใจลงทุนในโรงแรม 4 กอง สวนสนุกและอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ 4 กองและคาดว่า จากมาตรการนี้จะทำให้เกิดการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 30,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี มาตรการข้างต้นจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสูญเสียรายได้ จึงต้องชดเชยรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป
ส่วนการประเมินการสูญเสียรายได้นั้นกระทรวงการคลังได้ประเมินว่า รัฐจะสูญเสียรายได้จากภาษี จากธุรกรรมการลงทุน ประมาณ 9,240 ล้านบาท และสูญเสียรายได้ที่ได้รับจากค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประมาณ 1,194 ล้านบาท แต่จะช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 หรือผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจสามารถเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจ และยังรักษาความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินไว้ได้