ลดดีเซล 5 บาท สูญ 2 หมื่นล้าน แลกตรึงราคาสินค้า

18 พ.ค. 2565 | 09:00 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ค. 2565 | 18:39 น.

เอกชนขานรับ ลดภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตร รถบรรทุก 10 ล้อ ยันไม่ปรับค่าขนส่งชนเพดานที่ 20 % รอดูท่าทีรัฐบาลหลัง 2 เดือน พร้อมจี้ให้ถอดไบโอดีเซลออกจากดีเซลควบคู่ ขณะที่หอการค้าฯ ชี้ไม่มีเหตุผลขึ้นราคาสินค้า แนะให้รัฐเร่งจัดหาแหล่งน้ำมันราคาถูกเข้ามาช่วย

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ต้นปี 2565 และยังไม่ท่าทีว่าจะยุติลงเมื่อใด ส่งผลให้เกิดวิกฤตพลังงานไปทั่วโลก เมื่อราคาน้ำมันดิบพุ่งทะยานไปกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ละประเทศเกิดภาวะเงินเฟ้อ สินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตาม ไม่เว้นแม้แต่ไทยเองก็ต้องเผชิญภาวะดังกล่าว

 

การบรรเทาปัญหาของรัฐบาลที่ผ่านมา แม้ว่าจะพยายามตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ทั้งการนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอุดหนุนราคา ทำให้กองทุนน้ำมันฯติดลบไปแล้วกว่า 7.2 หมื่นล้านบาท รวมทั้งการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจากที่เคยจัดเก็บในระดับ 5.15-6.44 บาทต่อลิตร ลงมา 3 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภค

แต่ในที่สุดรัฐบาลมีความจำเป็นต้องยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เนื่องจากองทุนน้ำมันแบกรับไม่ไหว ประกอบกับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลที่จะสิ้นสุดในวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 นี้ จะส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกดีเซลเพิ่มขึ้นอีก 3 บาทต่อลิตร ทำให้ราคาขายปลีกปรับขึ้นไปอยู่ที่ราว 35 บาทต่อลิตร ยิ่งสร้างผลกระทบหนักให้กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

ลดดีเซล 5 บาท สูญ 2 หมื่นล้าน แลกตรึงราคาสินค้า

ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีมติที่จะขยายเวลาและปรับลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตลงอีก 2 บาทต่อลิตร เป็น 5 บาทต่อลิตร ในระยะเวลา 2 เดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะตามมา โดยเฉพาะการปรับขึ้นของค่าขนส่งและสินค้าที่จะตามมา

  • รายได้หายเดือนละหมื่นล้าน

นายณัฐกร อุเทนสุต โฆษกกรมสรรพสามิตกล่าวว่า การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาทเป็นระยะเวลา 2 เดือน จะมีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม-20 กรกฎาคม 2565 ซึ่งภาษีที่จัดเก็บจะปรับลดหลั่นตามสัดส่วนเนื้อน้ำมันที่ผสม จะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ให้ลดลงประมาณ 20,000 ล้านบาท หรืออาจมากกว่านั้น เนื่องจากมีแนวโน้มว่า ปริมาณการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้น หลังกิจกรรมภายในประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งส่งผลให้มีการเดินทางและความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย จากเดิมที่มีการประมาณการใช้น้ำมันดีเซลอยู่ที่ประมาณ 68 ล้านลิตรต่อวัน หรือประมาณ 2,000 ล้านลิตรต่อเดือน

นายณัฐกร อุเทนสุต โฆษกกรมสรรพสามิต

ทั้งนี้ การต่ออายุลดภาษีน้ำมันดีเซลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันค่าเงินบาทอ่อนค่าลง หากไม่ดำเนินการในช่วงนี้ จะส่งผลให้ราคานํ้ามันดีเซลขึ้นไปที่ระดับ 35 บาทต่อลิตรได้ ซึ่งจะมีผลกระทบกับภาคประชาชนและภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้

 

"หากปรับลดภาษี 1 บาทต่อลิตร จะกระทบรายได้หายไป 1,982.20 ล้านบาทต่อเดือน ปรับลดภาษี 3 บาทต่อลิตร จะกระทบรายได้หายไป 5,946.61 ล้านบาทต่อเดือน และเมื่อปรับลดภาษี 5 บาทต่อลิตร จะกระทบรายได้หายไป 9,911.20 ล้านบาทต่อเดือน"นายณัฐกรกล่าว

 

อย่างไรก็ตามกรมสรรพสามิต มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีน้ำมัน ประมาณกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วน 40% ของรายได้ภาษีทั้งหมดของกรม ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 65 กรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงแล้วรวมกว่า 105,416 ล้านบาท

 

  • คลังยันไม่กระทบหารายได้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร จาก 5.99 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 2 เดือน จะช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้า และรายได้ที่หายไป จะไม่กระทบต่อเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ทั้งปีงบ 2565 ที่ตั้งเป้าไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ขณะนี้ผ่านมา 6 เดือนของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค. 64-มี.ค. 65) สามารถจัดเก็บรายได้รวมเกินเป้าหมายประมาณ 68,890 ล้านบาท การลดอัตราภาษีดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร มีส่วนต่างภาษีที่ยังเหลืออยู่แม้จะไม่มาก ซึ่งคลังยังสามารถบริหารจัดการได้ในช่วง 2 เดือน ส่วนหลังจากนั้นยังต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไป

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ กบน. เพื่อบริหารจัดการอีกครั้ง เพราะขณะนี้กองทุนฯ ยังคงมีสถานะติดลบ อุดหนุนราคาดีเซลอยู่เกือบ 10 บาทต่อลิตร ขณะที่ในส่วนของน้ำมันเบนซินนั้น ขณะนี้นโยบายยังคงปล่อยลอยตัว

 

“รายได้เกือบ 2 หมื่นล้านบาทที่หายไป ยังอยู่ในวิสัยที่กระทรวงคลังยังบริหารจัดการได้ เพราะช่วงที่ผ่านมา บางส่วน เช่น ในส่วนของกรมสรรพากร สามารถจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายและสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน แต่รายได้บางส่วนก็อาจจะลดลง เพราะยังอยู่ในช่วงมาตรการลดหย่อนภาษี ซึ่งรวมถึงการลดภาษีน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตรด้วย” นายอาคมกล่าว

 

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นสิ่งที่สหพันธ์ฯเคยเรียกร้องให้ภาครัฐพิจารณามาตรการด้านราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระประชาชนได้ หากปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลลอยตัวจะทำให้เศรษฐกิจพังแน่นอน

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย

เมื่อมีมาตรการนี้ออกมาทางสหพันธ์ฯ จะชะลอการปรับขึ้นค่าขนส่งไปที่ระดับ 20% ออกไปก่อน จากปัจจุบันราคาดีเซลที่ราว 32 บาทต่อลิตร ทางสหพันธ์ฯมีการปรับขึ้นค่าขนส่งไปแล้วอยู่ที่ 10-15% เท่านั้น เพราะจุดคุ้มทุนในการขนส่งอยู่ที่ 25 บาทต่อลิตร หากราคาน้ำมันปรับลดลง ก็จะมีการปรับค่าขนส่งลงอีก ส่วนจะปรับลดค่าขนส่งเหลือเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับมาตรการของภาครัฐว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่สิ่งที่สหพันธ์ฯเป็นกังวลคือราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่เมื่อราคาน้ำมันลดลงกลับไม่ลดราคาสินค้าลง

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการในการแก้ไขปัญาน้ำมันดีเซลแพง ทำไมไม่สามารถนำน้ำมันไบโอดีเซลที่เป็นส่วนผสมออกจากระบบได้ เพราะราคาน้ำมันไบโอดีเซลอยู่ที่ 60 บาทต่อลิตร ภาครัฐควรชี้แจงให้ชัดเจน แต่กลับบอกว่าช่วยลดมลพิษและฝุ่น PM 2.5 ซึ่งไม่ใช่เรื่องจริง เชื่อว่าหากนำน้ำมันไบโอดีเซลออกจากระบบจะช่วยลดราคาน้ำดีเซลลงถึง 2 บาทต่อลิตร และลดภาษีสรรพสามิต 5 บาทต่อลิตร จะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลเหลือ 25 บาทต่อลิตร

 

  • เอกชนยกนิ้วรัฐตรึงน้ำมัน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตรเป็นเวลา 2 เดือน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นเพราะน้ำมันเป็นต้นทุนที่กระทบกับคนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่ใช้รถในการเดินทาง รวมถึงต้นทุนการขนส่ง และการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

ขณะเดียวกันไทยต้องหาแหล่งนำเข้าน้ำมันให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียของคณะร่วมภาครัฐและเอกชนล่าสุดได้มีการเจรจานำเข้าน้ำมันจากซาอุฯเพิ่ม เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาจากแหล่งนำเข้าอื่นควบคู่ไปกับการยืดระยะเวลาการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล

 

  • ตรึงค่าขนส่ง-ราคาสินค้า

นอกจากนี้ จากที่รัฐบาลยังตรึงการลดภาษีสรรพสามิตไว้ ขณะที่ภาคขนส่งยังมีการแข่งขันด้านราคา ดังนั้นการที่ราคาน้ำมันไม่ปรับขึ้นก็ไม่มีเหตุผลที่ค่าขนส่งจะปรับขึ้นอีก จากที่ผ่านมาค่าขนส่งมีการปรับขึ้นจากช่วงที่ราคาดีเซลขึ้นมาที่ระดับ 20 บาทต้น ๆ ต่อลิตรก็เคยปรับขึ้นมาบ้างแล้วในระดับที่ถือว่ายังพอไปกันได้ แต่สุดท้ายภาคการผลิตไม่สามารถขึ้นราคาได้มากตามต้นทุนที่ปรับขึ้น แต่ปรับขึ้นได้ในบางสินค้าเท่านั้น (สินค้าที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายการควบคุมของกระทรวงพาณิชย์) โดยเฉพาะสินค้าสำหรับผู้มีกำลังซื้อที่มีรายได้ระดับกลางขึ้นไป เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคภาพรวมยังอ่อนแรงมาก

 

“กำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแรง ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าตามราคาวัตถุดิบ ค่าพลังงาน และค่าขนส่งได้ตามต้นทุนที่แท้จริง จึงถือเป็นการตรึงราคาสินค้าไปโดยอัตโนมัติ”นายวิศิษฐ์กล่าว

 

สำหรับข้อแนะนำในการกำกับดูแลราคาสินค้า ลดค่าครองชีพของประชาชน ข้อแรก การกำกับดูแลสินค้าไม่ให้ขาดแคลน 2. ดูแลสภาพการแข่งขันให้ตลาดยังมีการแข่งขันที่เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งจะเป็นกลไกที่ดีในการควบคุมราคาโดยอัตโนมัติ ถ้าทำได้ 2 อย่างนี้ก็จะกระทบกับผู้บริโภคน้อยที่สุด