“อาคม” ชี้โควิดทำต้นทุนรัฐพุ่ง ย้ำต้องปฏิรูปการจัดเก็บภาษี

19 พ.ค. 2565 | 07:19 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2565 | 14:28 น.

“อาคม” ชี้โควิดทำต้นทุนภาระการคลังพุ่งสูง หลังรัฐบาลต้องกู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท และออกมาตรการลดหย่อนภาษีลดผลกระทบประชาชนและภาคธุรกิจ ชี้จำเป็นต้องปฏิรูปการจัดเก็บรายได้รัฐ โดยเฉพาะ "ภาษี" เพื่อนำรายได้มาชดเชยรายจ่ายที่เกิดขึ้น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานเสวนา "Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” ว่า ในช่วงโควิดที่ผ่านมา นโยบายการเงินการคลังมีการทำงานอย่างสอดประสานกัน ซึ่งเป็นแนวทางที่ทุกประเทศดำเนินการ

 

โดยในส่วนของนโยบายการคลัง คือการเข้าไปแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบคนตกงาน ผ่านการออกมาตรการ เช่น เราชนะ เราไม่ทิ้งกัน คนละครึ่ง เป็นต้น ทำให้รัฐบาลต้องทำการกู้เงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท

ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมีต้นทุนจากการดำเนินมาตรการของแบงก์รัฐ เช่น มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ หรือ การเติมสินเชื่อใหม่ ที่รัฐจะต้องเข้าไปชดเชยในส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้น ในสัดส่วน 30-40%

 

รวมทั้งการออกมาตรการลดหย่อนภาษีต่างๆ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาด้วย ดังนั้น ในส่วนของต้นทุนที่แท้จริงของรัฐ จะต้องนำเงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาทรวมกับต้นทุนจากการดำเนินมาตรการอื่นๆ ด้วย

นายอาคม กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันในการที่ประเทศจะเดินไปข้างหน้า นโยบายการคลังก็จำเป็นต้องเข้าไปมีบทบาท ทั้งในเรื่องของดิจิทัลเทคโนโลยี การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และการสร้างความแข็งแกร่งให้ภาคสาธารณสุขไทย ผ่านนโยบายด้านภาษี

 

เช่น การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมาตรการทางภาษีจะเป็นตัวเข้าไปช่วยลดต้นทุนทำให้ราคาต่ำลง รวมทั้งการสนับสนุนสินเชื่อของสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งทั้งหมดถือเป็นต้นทุนที่รัฐจำเป็นต้องแบกรับเพิ่มขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องมีการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้เพื่อนำเงินมาชดเชยในส่วนที่ใช้จ่ายออกไป

 

“ที่บอกว่า เศรษฐกิจโตช้า แต่ถ้าโตช้าแต่มั่นคง ผมเลือกแนวทางนี้ ขณะที่ต้นทุนที่เกิดขึ้น จะได้จากไหนมาชดเชยนั้น ซึ่งวันนี้ในเวทีโลกพูดถึงภาคการคลังที่ยั่งยืน รัฐไม่ใช่จ่ายเงินอย่างเดียว แต่ต้องมีรายได้ผ่านการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ ซึ่งทุกประเทศก็ทำกัน และมีการปรับในเรื่องของการจัดเก็บภาษี เพื่อนำมาชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้น” นายอาคม กล่าว

 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

นายอาคม กล่าวอีกว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจโลกมีผลต่อเศรษฐกิจไทย เพราะเศรษฐกิจของไทยเป็นระบบเปิด ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกใน 2 ประเด็นหลัก คือ เรื่องของการนำเข้าและส่งออก และเรื่องของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญวิกฤตซ้อนวิกฤต คือ วิกฤตโควิด และวิกฤตพลังงาน ที่กระทบต่อราคาวัตถุดิบและซัพพลายเซน

 

ทั้งนี้มองว่าปัจจุบันเราไม่สามารถมองภาพกว้างของโลกได้ แต่ต้องจำกัดขอบเขตลงมาเฉพาะประเทศที่เกี่ยวข้อง และแคบลงมาอีกที่ในระดับภูมิภาค และระดับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ไทยเผชิญโควิด พบว่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น ไทยยังเกินดุล และการส่งออกยังขยายตัวได้ถึง 10%

 

ดังนั้นหากเราสามารถสร้างดีมานด์ให้เกิดขึ้นในประเทศ หรือสร้างกำลังซื้อให้เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกไม่รุนแรงมากนัก

 

งานเสวนา "Better Thailand Open Dialogue “ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม”