นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวในงานเสวนา BETTER THAILAND open dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า ในหัวข้อ “ลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับสวัสดิการ” (หนี้ครัวเรือน แรงงาน) ว่า จากการศึกษาพบว่าปัญหาของหนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ประชาชนส่วนหนึ่งไม่สามารถจัดการระบบบัญชีครัวเรือน
หรือดูแลเรื่องการเงินส่วนบุคคลได้ เพราะขาดองค์ความรู้ทางการเงิน ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลัง ได้เสนอเรื่องไปยัง ครม. เพื่อดำเนินการแผนพัฒนาทักษะทางการเงินแก่ประชาชนอย่างครบถ้วนและทั่วถึง
โดยได้มีการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ก.ศึกษาธิการ ก.แรงงาน ก.มหาดไทย และธนาคารแห่งประเทศ ในการฉีดวัคซีนด้านการเงินให้ทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจ และบริหารจัดการเงินของตัวเองได้ โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มเด็กเยาวชน กลุ่มผู้มีงานทำ กลุ่มบุคคลากรภาครัฐ กลุ่มประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนฐานราก รวมถึง กลุ่มผู้สูงวัย ผู้เกษียณอายุ ด้วย
“รัฐบาลพยายามดูแลในเรื่องของการออกนโยบายที่จะไม่ทำให้ประชาชนสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น หรือถ้าต้องมีหนี้ ก็ต้องเป็นหนี้ที่เป็นทุนสำหรับการสร้างรายได้ในอนาคตให้คืนกลับมาสู่ครัวเรือน” นายพรชัย กล่าว
นายพรชัย กล่าวอีกว่า กระทรวงการคลังยังเดินหน้าดูแลคนยากจน ซึ่งเตรียมจะเปิดให้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จะเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญและมีความเชื่อมโยงกับหน่วยงาน
เช่น ก.แรงงาน ก.มหาดไทย ก.ศึกษาธิการ และ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ในการออกแบบนโยบายและวิธีในการเข้าไปดูแลกลุ่มคนยากจนในระดับฐานราก
ขณะเดียวกันในระดับจุลภาค กระทรวงการคลังพยายามพลักดันเพื่อให้เกิดการออม ผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ และกองทุนบำเหน็จบำนาญ เพื่อให้ประชาชนมีเงินออมใช้ในวัยหลังเกษียณ
โดยจะเร่งสร้างความตระหนักในการแก้หนี้ครัวเรือน โดยการตั้งสมการครอบครัว คือ รายได้-เงินออม = ค่าใช้จ่าย เพื่อทำให้หนี้ครัวเรือนบรรเทาลง และยังเป็นการออมเพื่ออนาคตด้วย
นายพรชัย ยังกล่าวถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้น แบ่งเป็น หนี้ใน 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มหนี้เพื่อการศึกษา กลุ่มหนี้ครู กลุ่มหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสด กลุ่มหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ กลุ่มหนี้นอกระบบ และกลุ่มหนี้ทั่วไป
โดยกระทรวงการคลังได้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาหนี้แต่ละกลุ่ม เช่น หนี้เพื่อการกู้ยืม หรือหนี้ กยศ. ก็ได้มีการแก้กฎหมายเพื่อลดภาระการชำระหนี้ให้กับนักศึกษาที่จบมาแล้วยังมีรายได้น้อย หรือ ยังไม่มีงานทำ
เช่น การปรับลดดอกเบี้ย การปรับโครงสร้างหนี้ และการชะลอการฟ้องร้องบังคับคดี ซึ่งพบว่ามีหนี้ที่ผิดนัดชำระอยู่ประมาณ 2 ล้านราย โดยล่าสุดได้เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้แล้วจำนวน 5 แสนราย และส่วนที่เหลือได้เข้าสู่การประนอมหนี้
ขณะที่หนี้ครู กระทรวงการคลังได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบ โดยการลดดอกเบี้ย และปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องของการไม่ให้ใช้จ่ายจนเกินตัว โดยขณะนี้มีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 70%
ส่วนกลุ่มหนี้บัตรเครดิตและหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ทาง ธปท. ได้ดำเนินมาตรการคลินิคแก้หนี้ และโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน เพื่อช่วยประชาชนที่มีการใช่จ่ายบัตรเครดิตจนไม่สามารถหมุนเงินได้ทันขณะที่กลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รัฐบาลได้กำหนดกติกาในการกำหนดเพดานการจ่ายหนี้ และเป็นคนกลางในการช่วยไกล่เกลี่ยหนี้
ขณะที่กลุ่มที่มีหนี้นอกระบบ กระทรวงการคลังได้เข้าไปแก้ปัญหา ผ่านสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยแบบผ่อนปรน โดยขณะนี้มีประชาชนมาใช้บริการมากกว่า 1.5 ล้านบัญชี
และสุดท้ายกลุ่มลูกหนี้ทั่วไป ซึ่ง ธปท. และ ก.คลัง ได้เข้าไปดูแลในเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ปรับลดดอกเบี้ย รวมทั้งปรับโครงสร้างหนี้
นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง แบงก์รัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ในการดำเนินโครงการสร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับประชาชน ซึ่งจะได้รับการฝึกอาชีพพร้อมได้รับเงินทุนในการประกอบอาชีพในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
และ ธนาคาร ธ.ก.ส. ในการเข้าไปช่วยยกระดับพัฒนาสินค้าเกษตรและพัฒนาช่องทางตลาด รวมทั้งให้สินเชื่อในการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตด้วยนวัตกรรม ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น