STARK ทุ่ม 2 หมื่นล้าน เทก"LEONI"ผู้ผลิตสายไฟฟ้ายานยนต์เบอร์1 ของโลก

24 พ.ค. 2565 | 17:43 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ค. 2565 | 06:11 น.

STARK ขยายอาณาจักรเข้าซื้อกิจการ LEONI ผู้ผลิตสายไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก ถือหุ้น 100% มูลค่าลงทุนไม่เกิน 560 ล้านยูโร หรือราย 20,588.90 ล้านบาท รองรับการขยายธุรกิจสู่ EV car & Charging station เจาะตลาดอาเซียน คาดทำธุรกรรมแล้วเสร็จไตรมาส 4/65 หนุนรายได้กำไรทะยาน

นายประกรณ์  เมฆจำเริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตาร์ค  คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK  เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2565 มีมติเห็นชอบให้ซื้อหุ้นใน LEONI Kabel GmbH (“LEONI Kabel”) ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายของประเทศเยอรมนีและ LEONIsche Holding Inc (“LEONIsche”) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายของรัฐเดลาแวร์ ในสัดส่วนร้อยละ 100 ของหุ้นสามัญทั้งหมด โดยมีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 560 ล้านยูโร (หรือประมาณไม่เกิน 20,588.90 ล้านบาท)

 

คลิกอ่านเพิ่มเติม  :  การได้มาซึ่งสินทรัพย์เกี่ยวกับการลงทุน ใน LEONI Kabel GmbH

 

ทั้งนี้ จะมีการจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2565 ในวันที่ 12 ตุลาคม 2565 เวลา 14.00 น. ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติธุรกรรมดังกล่าวต่อไป

 

สำหรับ LEONI เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสายเคเบิ้ลสำหรับรถยนต์ และรถยนต์ไฟฟ้า (Automotive cable) และสำหรับสถานีชาร์จรถไฟฟ้า (Charging cable solution) อันดับ 1 ของโลก ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญในรถยนต์ไฟฟ้า (EV car) และสถานีชาร์จรถไฟฟ้า (Charging station) มีพนักงานประมาณ 3,300 คน โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งที่เมือง Roth ประเทศเยอรมัน มีโรงงานกระจายอยู่ทั่วโลกกว่า 10 แห่ง ใน 7 ประเทศ (กลุ่มยุโรปตะวันออก อเมริกา และเอเชียแปซิฟิก) สร้างยอดขายรวมกว่า 1,380 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณกว่า 47,000 ล้านบาท) ในปี 2564

โดยมีลูกค้าที่สำคัญ เช่น Tesla, Rolls Royce, Mercedes Benz, Volkswagen, Ford, BMW, Audi, GM Group, Chery และ BYD เป็นต้น ซึ่งลูกค้าเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกที่เริ่มพัฒนาและผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV car) เป็นหลักทั้งในสหรัฐอเมริการ (Tesla) และประเทศจีน (Chery และ BYD)

 

LEONI เป็นบริษัทอันดับ 1 ของโลกในด้านการผลิต Automotive cable และ Charging station solution ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความต้องการและมีการเติบโตอย่างมากในปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก ประกอบกับ LEONI ได้ศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์มามากกว่า 20 ปี เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและตอกย้ำความเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลกในด้าน Automotive cable และ Charging station solution เพื่อรองรับการเติบโตของความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า และสถานีชาร์จที่มากขึ้น

 

ทั้งนี้ เมื่อผนวกกำลังกับ STARK ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผลิตสายไฟฟ้าแนวหน้าของไทย จะเป็นการเสริมสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์สายไฟฟ้าและเคเบิล ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตรากำไรสูง (High-margin) เพื่อครอบคลุมการเติมโตของกลุ่มพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน”

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร STARK กล่าวอีกว่า ด้วยศักยภาพและเทคโนโลยีของ LEONI ที่เป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญในการผลิตสายไฟฟ้ายานยนต์ (EV car) ให้กับแบรนด์ชั้นนำระดับโลก การควบรวมกิจการในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับ LEONI ในการเจาะตลาดขยายพื้นที่ส่งออกสู่ตลาด ASIAN ซึ่งถือว่าเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ส่งออกระดับต้นๆ ของโลกที่มีการเติบโตสูง และเป็นการตอกย้ำจุดยืนการเป็นผู้นำการผลิตสายเคเบิ้ลสำหรับยานยนต์ (Automotive cable) และสำหรับสถานีชาร์จรถไฟฟ้า (Charging cable solution) อันดับ 1 ของโลก

 

ทั้งนี้ หลังการเข้าทำธุรกรรมในครั้งนี้จะสร้าง Synergies ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การลดต้นทุนการผลิตจากการเจรจาต่อรองซื้อวัตถุดิบในราคาที่ถูกลง (ทองแดง อลูมิเนียม และ โพลีเมอร์) เนื่องด้วยปริมาณคำสั่งซื้อที่มากขึ้น การแชร์ทรัพยากรบุคคลทางด้านฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายวิจัย (R&D) ของกลุ่มบริษัทเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอย่างต่อเนื่อง และการดำเนินด้าน Lean management อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยคาดการณ์ว่าจะลงทุนจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4 ปี 2565 และจะรับรู้รายได้ส่วนเพิ่มทันทีส่งผลให้ภาพรวมทั้งในแง่รายได้และกำไรของบริษัทที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

นอกจากนี้ รายการดังกล่าวมีมูลค่าการลงทุนที่ 560 ล้านยูโร หรือ ประมาณ 20,588 ล้านบาท (คำนวนจากอัตราแลกเปลี่ยนธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 20 พ.ค. 65  เท่ากับ 36.7659 บาท ต่อ 1 ยูโร) คิดเป็น EV/EBITDA ประมาณ 6.7 เท่า เมื่อเทียบกับผลประกอบการปี 2564 โดยใช้แหล่งเงินจากสถาบันการเงินกู้เป็นหลัก (ไม่เกิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 17,298 ล้านบาท)  และส่วนที่เหลืออาจมาจากกระแสเงินสดหมุนเวียนภายในของบริษัท ซึ่งอาจรวมถึงการเพิ่มทุนของบริษัท อาทิ ใบสำคัญแสดงสิทธิ (STARK-W1) และ/หรือ การเพิ่มทุนที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นสูงสุดและทำให้เกิด EPS Accretive