หลังจากประสบความสำเร็จจากการระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน 895.41 ล้านหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (Right Offering) อัตรา 1:1 ในราคา 1 บาท ได้เงินทั้งสิ้น 815.51 ล้านบาท ทำให้บมจ.ทีวี ไดเร็ค หรือ TVD พร้อมที่จะทรานส์ฟอร์มเป็นบริษัท ซูเปอร์โฮลดิ้ง คัมปานี พร้อมกับเปลี่ยนแปลงกรรมการใหม่ 3 ตำแหน่ง โดยดึงนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามานั่งเป็นประธานกรรมการ
นายทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) หรือ TVD เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทฯได้รายงานผลการจัดสรรหุ้น RO ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) แล้ว โดยหลังการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนพบว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่จากไต้หวันคือ Momo.com Inc. จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลง จากการไม่ใช่สิทธิ RO
ขณะที่มีพันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่เข้ามาคือ นายวิชัย ทองแตงได้ใช้สิทธิในหุ้น RO เกินสิทธิ์ จำนวน 150 ล้านหุ้นจากเดิมที่ถืออยู่แล้ว 1,000 หุ้น ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นใน TVD เพิ่มเป็น 9.06% รองจาก Momo เนื่องจากเห็นศักยภาพของบริษัทฯ ที่มีธุรกิจที่ความหลากหลายและโอกาสกลับมาเติบโตแข็งแกร่งในอนาคต
“การเพิ่มทุนครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น ซึ่งหุ้นของไต้หวันลดจาก 20.4% เหลือ 11.8% แสดงว่า เราจะไม่ได้ทำทีวีช้อปปิ้งเต็มรูปแบบเหมือนเดิมแล้ว เราก็จะเริ่มเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ วิธีการจัดการใหม่ จึงเป็นเหตุผลที่เรากลับมาดูว่า ทำไมต้องเป็นโฮลดิ้งส์ จริงๆแล้ว เราจะเป็นโฮล ดิ้งส์มาหลายรอบแล้ว เพียงแต่กรรมการชุดเดิมไม่ชอบแบบนี้ สิ่งที่เราต้องทำคือไปรวบ 8 บริษัทมาควบรวมกันใหม่ภายใต้บริษัทที่เรียกว่า abpo ที่มี TVD ถือหุ้น 70%”นายทรงพล กล่าว
นายทรงพลกล่าวต่อว่า abpo ทำธุรกิจ Business Technology Outsourcing (BTO) หรือ อะไรที่คนอื่นไม่อยากทำ เราทำ ก็คือ คอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเราจะมีีระบบ ทั้งการรันคอลเซ็นเตอร์ ระบบ API การรับพนักกงานเข้ามาทำคอลเซ็นเตอร์
ขณะเดียวกันภายใต้ abpo ยังมีการถือหุ้นในอีก 7 บริษัทคือ ทีวีโบรกเกอร์ ทำธุรกิจเป็นตัวแทนขายประกันภัย โดยอาศัยฐานลูกค้าจากทีวีไดเร็ค จึงมียอดการขายประกันชีวิตผู้สูงอายุเป็นอันดับหนึ่ง เพราะลูกค้าทีวีไดเร็คจะเป็นผู้สูงอายุ และอันดับ 2 คือ ประกันภัยอุุบัติเหตุส่วนบุคคล: PA ซึ่งตามแผนทีวีโบรกเกอร์จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปีหน้า
ธุรกิจที่เหลือของ abpo จะเป็นสตาร์ตอัพหมดเลยอย่าง เอ็กซ์เพรสโซ เราเข้าไปซื้อรถจักรยานยนต์ยี่ห้ออัลฟา เพื่อมาทำธุรกิจรับส่งสินค้าเป็นตลาดเฉพาะ เช่นสินค้าแบรนด์เนม เราซื้อโอเปอร์เรชั่นมา 1 ปีแล้วและคาดว่า ไม่เกิน 6 เดือนจากนี้ น่าจะเรียบร้อยและออเดอร์น่าจะแตะ 5 หมื่นออร์เดอร์ต่อเดือนได้
“โครงสร้างขณะนี้คือ ทีวีไดเร็คเป็นบริษัทเดี่ยว แล้วถือใน abpo แล้ว abpo ถือใน 7 บริษัท เราตั้งใจที่จะแลกหุ้นเหมือน SCBx แต่ตลาดเหมือนจะไม่อยากให้ทำวิธีนั้นแล้ว แต่เราจะต้องสลับ โดยต้องเอาบริษัทลูกขึ้นไปอยู่ภายใต้ทีวีไดเร็คหมด abpo ก็จะมาอยู่ในระดับเดียวกับทีวีโบรกเกอร์ เอ็กซ์เพรสโซ และสตร์ตอัพอีก5 บริษัท” นายทรงพล กล่าว
สำหรับนายวิชัย ทองแตงจะเข้ามาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกัน เพื่อดึงศักยภาพของเราที่มีไปเสริมกับธุรกิจที่นายวิชัยไปลงทุน 60-70 บริษัท แต่ละบริษัทไม่ขาดระบบหลังบ้าน ก็ขาดคอลเซ็นเตอร์ หรือขาดลูกค้า ซึ่งเรามีลูกค้า 6 ล้านคน แต่เขามีสินค้าเช่น บริษัทผลิตจักรยานไฟฟ้า ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้น่าจะทั้งเสริมและร่วมกันได้ในอนาคต
ทั้งนี้ภายใต้โครงสร้างธุรกิจใหม่ที่ทีวีไดเร็คจะเดินสู่ดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นนั้น ธุรกิจเดิมที่เป็นทีวีช้อปปิ้งมูลค่า 2-3 พันล้านบาทคิดเป็น 50% ค่อยๆลดลงจากจำนวนคนดูทีวีที่ลดลงต่อเนื่อง พฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป คู่แข่งที่มากขึ้นและมองไม่เห็น แล้วไปเติบโตในธุรกิจอื่นที่เป็นธุรกิจใหม่ๆจากจากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 15% เป็น 50% ภายใน 5 ปี
สำหรับงบประมาณ หลักๆมาจากเงินเพิ่มทุนที่ได้มาคือ 815.51 ล้านบาท โดย 1 ใน 3 ใช้จัดการธุรกิจเดิมไม่ให้ขาดทุน และอีก 2 ใน 3 จะเติบโตในธุรกิจใหม่เช่น กลุ่มแรก ธุรกิจสุขภาพซึ่งจะมี 2-3 อย่าง เช่น สแตมเซล กลุ่มที่ 2 คือ อาหาร และที่ 3 จะเป็นเทคโนโลย จะร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งการใช้สายสัมพันธ์กับกรรมการชุดเดิมและพันธมิตรใหม่อย่างนายวิชัยด้วย
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,786 วันที่ 26 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2565