สรรพสามิต ส่งสัญญาณ จ่อคลอดมาตรการหนุนลงทุน “จุดชาร์จรถ EV”

17 มิ.ย. 2565 | 09:15 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มิ.ย. 2565 | 16:34 น.

สรรพสามิต เผยไทยก้าวสู่การใช้รถ EV หลังรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้น สร้างดีมานด์ได้กว่า 1 หมื่นคัน ชี้รัฐฯ เตรียมออกมาตรการหนุนลงทุนจุดชาร์จไฟ เชื่อ เมื่อทุกอย่างพร้อม การใช้รถ EV ในไทยโตก้าวกระโดดแน่นอน

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต กรมกรมสรรพสามิต กล่าวในงานสัมมนา EV Forum 2022 : Move Forward to New Opportunity ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ในหัวข้อ “EV Ecosystem พลิกโฉมยานยนต์ไทย” ว่า ขณะนี้มีค่ายรถยนต์ที่เข้าร่วมในมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว จำนวน 4 ค่าย

 

ได้แก่ เกรทวอลล์มอเตอร์ , MG , โตโยต้า และเดโก้กรีน ซึ่งเป็นค่ายรถจักรยานยนต์สัญชาติไทย และยังมีค่ายรถยนต์อีกอย่างน้อย 3 ค่ายที่จะทยอยเข้าร่วมมาตรการรัฐ

ขณะที่ยอดจองรถยนต์ไฟฟ้า ในงานมอเตอร์โชว์ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รวมกว่า 11,473 คัน แบ่งเป็นรถที่เข้าร่วมมาตรการ 10,841 คัน และไม่เข้าร่วมมาตรการ 659 คัน ซึ่งยอดจองดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเป็นการสะท้อนความเชื่อมั่นได้อย่างดี พร้อมมองว่าวันนี้ประเทศไทยถือว่าได้ 1 ก้าวที่จะไปสู่ EV ในอนาคต

 

“ปัญหาสถานีชาร์จไฟฟ้า เหมือนปัญหาไก่กับไข่ ที่ทุกคนบอกว่าจะลงทุนจุดชาร์จได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีรถ วันนี้มีความชัดเจนแล้วว่า เราผลักดันให้ดีมานด์เกิด เพราะฉะนั้นเมื่อดีมานด์เกิด ผมเชื่อว่าจะเกิดจุดชาร์จจิ้งอย่างก้าวกระโดด”  นายณัฐกร กล่าว

 

ณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต

 

นายณัฐกร กล่าวอีกว่า ขณะนี้รัฐบาลได้มีมาตรการในการกระตุ้นให้เกิดดีมานด์แล้ว และในขั้นต่อไปรัฐบาลเตรียมสนับสนุนการลงทุนสถานีชาร์จรถไฟฟ้า ซึ่งเชื่อว่าเมื่อมีมาตรการสนับสนุนการลงทุนสถานีชาร์จรวมทั้งค่าไฟ ก็จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคได้ และเมื่อทุกอย่างพร้อม ก็จะทำให้ EV เติบโตได้อย่างก้าวกระโดดอย่างแน่นอน

 

เช่นเดียวกับประเด็นในเรื่องของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ที่เชื่อว่าในอีก 2-3 ปี จะมีการพัฒนามากขึ้น ทำให้มีขนาดที่เล็กลง เบาขึ้น วิ่งได้ไกลขึ้น ก็เชื่อว่าจะยิ่งเป็นตัวช่วยสนับสนุนให้การใช้รถ EV โตได้โดยไม่ต้องมีมาตรการใดของรัฐเข้ามาเสริม

 

นายณัฐกร กล่าวอีกว่า จากมาตรการส่งเสริมด้านภาษี ที่รัฐบาลอุดหนุน 150,000 บาทต่อคันนั้น ทางผู้ขายที่เข้าร่วมมาตรการจะต้องส่งโครงสร้างต้นทุนราคาที่ชัดเจนมายังกรมฯ ซึ่งจะมีคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณา เพื่อให้เงินที่รัฐบาลอุดหนุน ตกถึงมือผู้ซื้อเต็ม 100%

 

โดยหากต้นทุนในการผลิตหรือนำเข้ารถยนต์สูงขึ้น ทางผู้ประกอบการสามารถขอปรับขึ้นราคาขายปลีกได้ แต่จะต้องมีการส่งโครงสร้างราคาต้นทุนใหม่ และมีการชี้แจงอย่างชัดเจน มาให้คณะกรรมการพิจารณาก่อน เพื่อป้องกันเงินที่รัฐบาลสนับสนุน 150,000 บาท ไปตกอยู่ที่ผู้ประกอบการ

 

สัมมนา EV Forum 2022 : Move Forward to New Opportunity

 

ส่วนเงินงบประมาณที่รัฐบาลสนับสนุนในปีแรก ที่ 3,000 ล้านบาทนั้น นายณัฐกร ยืนยันว่า เพียงพอ เพราะหากมีรถยนต์เข้าร่วมมาตรการ 10,000 คัน จะใช้งบประมาณ 150 ล้านบาท

 

ทั้งนี้รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมสรรพสามิต หารือร่วมกับสภาพัฒน์ ในการจัดสรรงบประมาณสำหรับใช้ในมาตรการฯ ในปีถัดๆ ไป ตั้งแต่ปี 66-68 โดยเบื้องต้นได้ตั้งงบประมาณที่ต้องใช้ไว้รวม 40,000 ล้านบาท

 

ขณะที่โครงสร้างสรรพสามิตรถยนต์ หลังปี 2569 นั้น กรมฯจะมีการทยอยปรับขึ้นภาษีรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยจะเพิ่มอัตราภาษีครั้งละ 1% - 2% จนถึงปี 73 โครงสร้างภาษีจะถูกปรับขึ้นไม่เกิน 5% และจะมีการแยกความแตกต่างระหว่างรถยนต์ไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริด อย่างชัดเจน

 

ซึ่งเดิมในปี 62 ได้มีการกำหนดให้รถยนต์แบบปลั๊กอินไฮบริด จะต้องวิ่งได้ 20 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ก็จะปรับให้ต้องวิ่งได้ไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง

 

ในขณะเดียวกันถังน้ำมันจะต้องมีขนาดเล็กลงอยู่ที่ 15 ลิตร เพื่อเป็นการส่งเสริมให้คนใช้รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด หันมาใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งขณะนี้จีน ก็มีการประกาศบังคับใช้ถังน้ำมันขนาดไม่เกิน 40 ลิตรแล้ว ดังนั้นจึงเป็นคำตอบของผู้ประกอบการที่ต้องการผลิตเพื่อส่งออกไปยังจีนในอนาคต

 

นายณัฐกร ยังกล่าวถึงการส่งเสริมโปรดักส์แชมป์เปี้ยน หรือ รถยนต์กระบะ นั้น รัฐบาลจะยังคงส่งเสริมต่อเนื่อง เพื่อให้ไทยยังคงเป็นฐานการผลิตเหมือนเดิม  ขณะที่การส่งเสริมรถบรรทุกไฟฟ้า เนื่องจากรถบรรทุกไม่ได้ถูกกำหนดอยู่ในพิกัดภาษีสรรพสามิต ทำให้กรมฯไม่สามารถเข้าไปดูในเรื่องของโครงสร้างราคาและต้นทุนได้ ทำให้วันนี้รถบรรทุก ยังไม่สามารถเข้าร่วมในมาตรการรัฐได้