นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด(มหาชน) (EA) กล่าวในงานสัมมนา EV Forum 2022:Move Forward to Opportunity จัดโดยฐานเศรษฐกิจ และกรุงเทพธุรกิจ ในหัวข้อ “เปิดแผนธุรกิจรุกตลาดEV โดยระบุว่า
ความพยายามทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรือ(ฮับอีวี)ถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งภาครัฐตื่นตัวค่อนข้างมากและต่อเนื่องและภาคเอกชนเริ่มเข้ามาในธุรกิจอีวี ไม่ว่าสถานีชาร์จรถยนต์ หรือธุรกิจให้เช่ารถอีวี โรงงานแบตเตอรี่ โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งกระแสโลกผลักดันให้ธุรกิจต้องปรับตัวเร็วขึ้น
โดยเฉพาะเรื่อง ภาษีคาร์บอน(Carbon Tax)ซึ่งเป็นตัวแปรและตัวเร่งทำให้ทุกคนมุ่งสู่ Zero Emission โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยไม่ว่า ปัญญาประดิษฐ์และ EV น่าจะเป็นจิ๊กซอร์สำคัญและเป็นโอกาสของประเทศไทยในอีก 10ปีข้างหน้า
ขณะที่รัฐบาลไทยประกาศ EV3 ดังนั้น หากระบบนิเวศน์เกิดซัพพลายเชนและโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น ไม่ว่าแบตตารี่ ระบบอิเล็กคทรอนิกส์ มอเตอร์ไฟฟ้า โดยเฉพาะแบตเตอรี่มีดีมานด์ในไทยมหาศาล
ที่สำคัญ ปัจจุบันบริษัทข้ามชาติมีคำถามแล้วว่า เมื่อไรรถขนส่งในไทยจะเปลี่ยนเป็นอีวี เพราะสถิติการปล่อยคาร์บอน(CO2)ประมาณ 25%นั้นมาจากธุรกิจขนส่ง(Logistic) ซึ่งบริษัทข้ามชาติก็ถูกกดดันจากกติกาของโลก หากไม่ปรับเปลี่ยนก็ย่อมต้องโดนจัดเก็บภาษีคาร์บอน Carbon Tax เช่นเดียวกันถ้าไทยไม่เปลี่ยนรถขนส่งเป็นอีวีก็จะเห็นการย้ายโรงงานออกไป ซึ่งเรื่องนี้จะเห็นมากขึ้นในปีนี้และปีหน้า
“วันนี้เริ่มมีคนเดินมาคุยกับEA แม้ไม่อยากเปลี่ยน แต่ด้วย Carbon Taxกดดันบังคับให้ต้องเปลี่ยนตามกติกาของโลก ซึ่งส่วนตัวมองเรื่องนี้เป็นโอกาสของประเทศไทยจะทำอย่างไรให้ต่อยอดและสร้างอุตสาหกรรมใหม่ได้ ส่วนตัวผมมองเป็นเรื่องดีที่ทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลเรามองเป้าหมายเดียวกันคือ เราจะเป็นฮับของอีวี”
ทั้งนี้ ในส่วนของ EA มุ่งเน้นกลยุทธ์เรื่อง Commercial Feed ด้วยเหตุผลที่บริษัทมีเทคโนโลยี Fast Charge ถือเป็นจุดแข็งของบริษัทซึ่งสามารถชาร์จได้15นาที เหมาะกับรถขนส่งหรือรถสาธารณะที่ต้องวิ่งตลอดเวลาและมีขนาดใหญ่เพียงพอเมื่อเทียบกับEAโดยใช้แบตเตอรี่ค่อนข้างมาก
และจากสถิติการปล่อยคคาร์บอน(CO2)ประมาณ 25%มาจากธุรกิจขนส่ง (Logistic) และสนองนโยบายรัฐเรื่อง Net Zero Carbonในปี 2065 ฉะนั้นภาคขนส่งถ้าไม่เปลี่ยนเป็นEVจะมีปัญหาเรื่องCO2
“ เมืองไทยมีรถยนต์อยู่ในภาคขนส่งประมาณ 1.3ล้านคัน ถ้าสามารถเปลี่ยนเป็นรถEVทั้งหมด ประเทศไทยต้องการแบตเตอรีประมาณ 450กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก และแต่ละปียังมีรถอยู่ในภาคขนส่วนอีก 8หมื่นคันซึ่งใช้แบตเตอรี่เกือบ 30กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งไซส์ใหญ่ใหญ่พอจะเกิดอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาอยู่ในเมืองไทยได้ เพราะเราบอกจะเป็นฮับอีวีในอาเซียน”
นายอมรกล่าวว่า ในส่วนของบริษัทEA ธุรกิจเป็นสินค้าสีเขียว Green Productทั้งหมด ซึ่งล้อไปกับเทรนด์ของโลก ไล่ตั้งแต่โรงผลิตไบโอดีเซล โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ลม และดำเนินการระบบนิเวศน์ (EV Ecosystem) ปลายปีที่แล้ว
สำหรับโปรดักส์ของEA ได้แก่ รถบัสไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้าซึ่งกำลังจะออกสู่ตลาดโดยอยู่ระหว่างพูดคุยพาร์ทเนอร์ และสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งสถานีชาร์จนั้น ยอมรับว่าเป็นธุรกิจที่ไม่หวังกำไร
แต่คาดหวังต่อยอดธุรกิจอื่น ซึ่งปัจจุบันมีสถานีชาร์จประมาณเกือบ 500แห่งใกล้ 2,000หัวกระจายทั่วไปซึ่งทำให้เครือข่ายประเทศไทยแข็งแรงและผู้ใช้เกิดความมั่นใจ
อย่างไรก็ตาม โรงงานประกอบรถบัสไฟฟ้า เฟสแรกนั้น รองรับกำลังผลิต 8,000คันต่อปี โดยเมื่อ ปีที่แล้วได้ส่งมอบรถบัสไฟฟ้า 120คัน และเป้าหมายปีนี้จะส่งมอบอีกประมาณ 1,200-1,500คัน โดยมีพันธมิตรที่ให้บริการรถเมล์ในกรุงเทพ
ทั้งนี้ ตามแผนภายในสิ้นปีหน้า คาดว่ากรุงเทพมหานครจะมีรถเมล์หรือรถโดยสารสาธารณะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)เกือบทั้งหมด หากเป็นไปตามแผน สามารถพิสูจน์ให้คนเชื่อในศักยภาพซัพพลายเชนในไทยที่แข็งแรง
ในอนาคตก็สามารรถจับมือกันออกไปทำตลาดต่างประเทศ /อาเซียน โดยอาศัยสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) นำเทคโนโลยีต่อยอดธุรกิจเพื่อดึงเงินเข้าประเทศบ้างจากที่เคยเป็นผู้ซื้อมา 30-40ปี
“ ตลาดนี้ใหญ่มาก EAไม่ต้องการเป็นผู้เล่นรายเดียว เพราะกว่าเครือข่ายจะครอบคลุมประเทศไทยต้องใช้เวลา ดังนั้นการหาพันธมิตรไม่ว่า EGAT และ ปตท.เข้ามาจะทำให้คนตัดสินใจง่ายขึ้น คือ การช่วยกันทำมากกว่าตลาดจริงๆมหาศาลช่วยกันทำให้เมืองไทยแข็งแรงแล้วออกไปหากินต่างประเทศบ้าง”