AQUA ลุยสินเชื่อ P2P ปูทางสู่ Virtual Bank ธนาคารไร้สาขา

19 มิ.ย. 2565 | 03:04 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มิ.ย. 2565 | 10:05 น.

AQUA สบช่องธุรกิจ FinTech ทั่วโลกโตต่อเนื่อง ผนึกความร่วมมือ News ลุยสินเชื่อ P2P คาดเริ่มปล่อยกู้ไตรมาส 4/65 ใช้หุ้นใน SET100 เป็นหลักประกัน มั่นใจบริหารความเสี่ยงได้ เหตุมีความมั่นคง พร้อมปูทางสู่ "Virtual Bank" ธนาคารที่ไม่มีสาขา ทุกอย่างดำเนินการผ่านมือถือ

Finance Technology หรือ FinTech กำลังมาแรงและเป็นที่ยอมรับของทั่วโลกมากขึ้น โดยจะเห็นว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนใน FinTech ทั่วโลกเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดดจาก 3.1 แสนล้านบาทในปี 2553 เพิ่มเป็น 7.24 ล้านล้านบาทในปี 2564 ขณะที่เอเชียเองก็ไม่น้อยหน้า มูลค่าการลงทุนใน FinTech สูงถึง 9 แสนล้านบาทในปีที่ผ่านมา ทำให้หลายธุรกิจมองเห็นโอกาสในการลงทุน

 

เช่นเดียวกับบริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NEWS ที่ผนึกความร่วมมือกับบริษัท อควา คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AQUA จัดตั้งบริษัท เพียร์ ฟอร์ ออล จำกัดหรือ PFA เพื่อเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท เนสท์ติฟลาย จำกัด หรือ Nestifly ในราคา 500 ล้านบาท จากบริษัท เฟิร์ส พีทูพี จำกัดและกลุ่มผู้ถือหุ้นของ Nestify เพื่อเข้าลงทุนธุรกิจ Peer-to-Peer Lending (P2P) ซึ่งเป็น 1 ในเซ็กเตอร์ของธุรกิจ FinTech ที่กำลังเข้ามาในเมืองไทย

นายฉาย บุนนาค รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่  AQUA เปิดเผยว่า ธุรกิจ FinTech เป็นธุรกิจทีี่อยู่ในเมกะเทรนด์ของโลก ซึ่งเป็นธุรกิจที่ AQUA สนใจมาตลอด เพราะมองเห็นว่า FinTech มีหลากหลายโปรดักส์ ทั้งเพย์เม้นท์ แบงกิ้ง เลนดิ้งส์ อินเวสเม้นท์ และประกัน แต่ที่ AQUA โฟกัสคือ เลนดิ้งส์หรือ Digital lending ซึ่งก็คือ P2P

นายฉาย บุนนาค รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่  AQUA

“แต่ก่อนคนอาจไม่รู้จัก P2P แต่ตอนนี้รู้จักมากขึ้น ซึ่ง P2P ก็เหมือนคนแปลกหน้า 2 คนมาปล่อยกู้กัน โดยมีแพลตฟอร์มเป็นตัวกลาง และไม่ใช่แค่เอาหุ้นมาค้ำประกัน แต่มันสามารถไปได้ไกลกว่านี้ เพียงแต่โปรดักต์แรกที่เราออกมาคือ การเอาหุ้นมาค้ำประกัน ซึ่งไม่ใช่มาร์จิ้นโลนที่เป็นการเอาหุ้นค้ำประกัน เพื่อลงทุนหุ้นต่อ แต่เงินกู้จาก P2P ไปทำอย่างอื่นได้ ซ่อมบ้าน หมุนเวียนอื่นๆ ได้”นายฉายกล่าว

นอกจากนั้น การกู้เงินแบบมาร์จิ้นโลน ยังต้องมีวงเงินขั้นต่ำเป็นหลักล้าน  ซึ่งรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่ P2P จะเป็นการช่วยให้คนเข้าสินเชื่อได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่คนต้องการกู้เงิน แต่มีข้อจำกัดเรื่องสินเชื่อ ทำให้คนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศที่คนส่วนใหญ่ต้องไปกู้ดอกเบี้ยแพงนอกระบบ และติดกับดักดอกเบี้ยไม่รู้จบ สิ่งที่ตามมาเป็นเรื่องปัญหาสังคมและความเหลื่อมล้ำ

 

อย่างไรก็ตาม แต่ถ้าคนที่มีเครดิตดี มีหลักประกันที่เหมาะสม จะทำให้คนตัวเล็ดสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ สามารถนำทุนออกไปสร้างสรรค์อะไรต่างๆ ได้ ซึ่งในแง่ธุรกิจ นอกเหนือจากการลงทุนและหวังผลตอบแทนแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการช่วยให้คนเข้าถึงแหล่งเงินทุนในต้นทุนที่เหมาะสม

 

ทั้งนี้เป้าหมายของ AQUA วางตำแหน่งจะทำ Digital Banking จึงอยู่ระหว่างศึกษาเรื่อง NeoBank หรือ Virtual Bank ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น หากธปท.เปิดให้ดำเนินการได้ AQUA ก็พร้อมที่จะยื่นขอใบอนุญาต เพราะต้องการทำธุรกิจธนาคารแบบไม่มีสาขา ทุกอย่างสามารถดำเนินการได้ผ่านมือถือ ซึ่ง P2P เป็นเพียงจุดเริ่มต้น

 

นายกฤษดา พฤติภัทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NEWS กล่าวว่า คาดว่าแพลตฟอร์มของ P2P จะสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ เพราะต้องรอระบบของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ลิเบอเรเตอร์ จำกัดที่จะทำหน้าที่เป็นคัสโตเดียน เนื่องจาก P2P เป็นการปล่อยกู้ผ่านแพลตฟอร์ม โดยใช้หุ้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงต้องมีคัสโตเดียนมาทำหน้าที่ในการเก็บรักษาหุ้นตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

นายกฤษดา พฤติภัทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร NEWS

สำหรับเกณฑ์ในการปล่อยกู้ของ P2P คือ

  1. จะให้กู้ที่มูลค่าต่อหลักประกัน (LTV) ที่ 30-50%
  2. เนื่องจากหลักประกันเป็นหุ้น จึงให้เวลาชำระ 6-9 เดือน
  3. หุ้นที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันได้คือ หุ้นในดัชนี SET100 ซึ่งเป็นบริษัทที่มั่นคง

 

ดังนั้นด้วย 3 ปัจจัยประกอบกันและการให้กู้ด้วยสัดส่วนการปล่อยกู้ที่ไม่สูงมาก ทำให้ผู้กู้รู้สึกสะดวกสบาย

 

ส่วนการบริหารความเสี่ยง กรณีที่ราคาหุ้นตก คือมี LTV ต่ำกว่า 75% หรือราคาหุ้นจาก 100 บาทเหลือ 25 บาท จะเรียกให้ลูกค้าเติมหลักประกัน ถ้าไม่เติม เราจะการชำระบัญชี ซึ่งการกำหนดสัดส่วนมูลค่าหุ้นให้เหลือที่ 25% เพราะมองว่า หลังการชำระบัญชีแล้ว มูลค่าหลักประกันจะมียอดเงินเหลือเพียงพอกับจำนวนเงินที่ปล่อยกู้ไป อย่างไรก็ตาม หุ้นที่ใช้เป็นหลักประกัน เป็นหุ้นขนาดใหญ่ ที่มีสภาพคล่องสูงตามสถิติที่ผ่านมา แม้จะเกิดวิกฤต ยังไม่เคยลดลงถึง 75%

 

 สำหรับคนที่ต้องการให้กู้และปล่อยกู้ใน P2P จะต้องไปเป็นลูกค้าบล. ลิเบอเรเตอร์ ก่อนสำหรับคนที่ต้องการปล่อยกู้ฝากเงินเข้าไปแล้วแจ้งความต้องการปล่อยกู้ ส่วนคนที่ต้องการกู้ ฝากหุ้นเข้าไปแล้วแจ้งความต้องการกู้ แล้วแพลตฟอร์มจะจับคู่กันเอง ซึ่งการที่เลือกหุ้นมาเป็นหลักประกัน เพราะมองว่า เป็นตลาดที่ใหญ่มาก แค่ใน SET100 ขนาดตลาดมีโอกาสถึง 7.2 แสนล้านบาท และหากขยายไปทั้ง SET ขนาดตลาดจะใหญ่ถึง 20 ล้านล้านบาท แค่ปล่อยกู้ 1 หมื่นล้านบาทยังไม่ถึง 1% ของตลาด เหมือนว่ายน้ำในมหาสมุทร และยังเป็น P2P เจ้าแรก เจ้าเดียวในประเทศไทยด้วย

 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,793 วันที่ 19 - 22 มิถุนายน พ.ศ. AQUA