นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีคน 2 กลุ่มหลักที่ไหลเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดเป็นรายได้(NPL) แต่มีจำนวนไม่ได้มาก ส่วนใหญ่ มาจาก 2 เหตุผลหลัก ได้แก่
1.เป็นกลุ่มที่ธนาคารติดต่อไม่ได้คือ เคยพักชำระหนี้มาแล้วเมื่อครบเวลาพักแล้วอาจจะ เจ้าหนี้ติดต่อไม่ได้ เพราะลูกหนี้รายย่อยแบงก์ไม่ได้มี RM ดูแลลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งมาตรการไกล่เกลี่ยจะเข้ามาช่วยกลุ่มนี้ได้
2. กลุ่มลูกหนี้รายย่อยที่ปรับโครงสร้างหนี้มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งอาจจะไปไม่ไหว อาจจะต้องจบหนี้ด้วยวิธีปกติตามกฎหมาย
ดังนั้น กลุ่มลูกหนี้ที่จะต้องช่วยเหลือต่อไป คือกลุ่มลูกหนี้รายย่อย หรือสินเชื่ออุปโภคบริโภค ที่ไม่มีหลักประกันซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่าสินเชื่อที่มีประกัน เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย และรายได้มีความผันผวนไม่แน่นอน
ซึ่งธปท.เห็นสัญญาณของความเปราะบาง ซึ่งเกิดในภาวะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น ซึ่งได้มีการหารือกับธนาคารจึงทำมาตรการนี้ออกมาเพื่อที่จะตอบโจทย์ ให้ตรงจุดเพื่อจะยับยั้ง ไม่ให้กลุ่มนี้ไหลเพิ่มซึ่งตัวเลข NPLไม่ได้ไหลเพิ่มสูงตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
โดยเฉพาะ NPL ของลูกหนี้รายย่อยปรับลดลงมาตลอด เห็นได้จาก ก่อนโควิดตัวเลข NPLรายย่อยจะอยู่ที่ 2.7-2.8% ถัดมาไตรมาส 1 ปี 63 ขึ้นไปอยู่ที่ 3.23% แต่ได้ทะยอยลดลงเหลือ 2.73% และขยับขึ้นเป็น 2.78% ในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นยังไม่สูงแต่เมื่อเห็นตัวเลขดังกล่าวธปท.ได้เข้าไปคุยกับธนาคารถึงสาเหตุ หรือคุณสมบัติว่าลูกหนี้เป็นอย่างไร เพื่อให้มีมาตรการเพื่อให้ธนาคารเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ได้ทัน
ส่วนลูกหนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ(RM) ตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ 6.57% เฉพาะสินเชื่อรายย่อย สินเชื่ออุปโภคบริโภค ไม่ใช่ NPL ในภาพรวม
สำหรับมาตรการที่มีอยู่เวลานี้คือการปรับหนี้ก่อนที่จะเป็น NPL และมาตรการปรับหนี้หลังจากเป็น NPLแล้ว เช่น คลินิกแก้หนี้ ที่กำลังจะปรับมาตรการ สำหรับคนที่เป็น NPL ในกลุ่มไม่มีหลักประกัน รวมถึงจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ในไตรมาส 3 ปีนี้
นอกจากนี้ End to End Process ธปท.มีมาตรการรองรับ ถ้ามี NPLจำนวนมากก็ไปบริหารจัดการกับบริษัทบริหารสินทรัพย์หรือ AMC ซึ่งเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว และธปท.ยังได้ตามเอาเงื่อนไขช่วยเหลือลูกหนี้ไปกำหนดในรูปแบบของ JV AMC ซึ่ง จัดตั้งแล้ว 1 ราย (JK AMC)
"เราพยายามดูแลลูกหนี้ไม่ให้เกิดเป็น หน้าผาเอ็นพีแอล หรือ NPL Cliff จนทำให้ระบบบริหารจัดการไม่ได้ ฉะนั้น คนที่เป็นหนี้เสียจะเน้นให้ปรับโครงสร้างหนี้ ก่อนที่จะเป็นหนี้เสียหรือถ้าปรับไม่ทันจะปรับมาตรการ คลินิกแก้หนี้และจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยเข้าไปช่วยเหลือ"
นางสาวสุวรรณีกล่าวถึง มาตรการแก้หนี้เดิม โดยระบุว่าการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ครัวเรือนและลูกหนี้ธุรกิจ ณ สิ้นเดือนเม.ย.65 รวม 3.87 ล้านบัญชีวงเงิน 2.82 ล้านล้านบาทแบ่งเป็นธนาคารพาณิชย์และนันแบงก์จำนวน 1.61 ล้านบัญชีวงเงิน 1.86 ล้านล้านบาท สถาบันการเงินเฉพาะกิจ 2.26 ล้านบัญชี วงเงิน 0.96 ล้านล้านบาท โดยคำนวนลูกหนี้ปรับลดต่ำลงเพราะมีการทยอยเข้าและออกจากมาตรการตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ได้เพิ่มช่องทางพิเศษสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นพิเศษไม่ว่าคลินิกแก้หนี้ ช่วยเหลือสะสม ตั้งแต่ 1มิ.ย.60 - 30 พ.ค.65 จำนวน 8.39 หมื่นบัญชีคิดเป็น 86% ของจำนวนผู้เข้าเงื่อนไข, ทางด่วนแก้หนี้ช่วยเหลือสะสม ตั้งแต่ 1 เมษายน 63 ถึง 31 พฤษภาคม 65 จำนวน 2.69 หมื่นบัญชีคิดเป็น 75% ของจำนวนผู้เข้าเงื่อนไข โครงการให้ความรู้ผ่าน "หมอหนี้" เพื่อประชาชน รวมถึงโครงการพักทรัพย์พักหนี้ซึ่งเป็นประโยชน์กับลูกหนี้กลุ่มธุรกิจ ซึ่งมีความคืบหน้ากว่า 50% จากวงเงินที่ตั้งไว้ 100,000 บาท
ส่วนมาตรการเติมเงินใหม่/สินเชื่อใหม่รวม กว่า 1.31 แสนรายวงเงิน 3.17 แสนล้านบาทแบ่งเป็น สินเชื่อภายใต้พรก. ซอฟต์โลนณ 12 เม.ย.64 จำนวนกว่า 7.77 หมื่นราย วงเงิน 1.38 แสนล้านบาท พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู 5.35 หมื่นรายวงเงิน 1.78 แสนล้านบาท โดยปรับเงื่อนไขเพื่อกระจายเม็ดเงินให้ทั่วถึง กลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงเพิ่มเติมด้วย