นางสาวจารุชา สติมานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล รีท แมนเนจเม้นท์ จำกัด ในฐานะผู้จัดการ กองทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล (WHA Industrial Leasehold Real Estate Investment Trust) หรือ “กองทรัสต์ WHAIR ” เปิดเผยว่า กองทรัสต์ WHAIR ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
เพื่อขออนุมัติเพิ่มทุนครั้งที่ 3 โดยออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์เพิ่มเติมจำนวนไม่เกิน 119.50 ล้านหน่วย เพื่อลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติมครั้งที่ 4 รวมไม่เกิน 1,345.89 ล้านบาท
สำหรับทรัพย์สินที่กองทรัสต์ WHAIR จะเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 เป็นอาคารโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าสำเร็จรูป จำนวนทั้งหมด 14 หลัง จาก 7 โครงการ โดยเป็นทรัพย์สินจาก 3 บริษัท ได้แก่
สำหรับการลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 นี้ ยังคงเป็นการลงทุนในสิทธิการเช่าใน อาคารโรงงานสำเร็จรูป (Ready Built Factory ) และ คลังสินค้าสำเร็จรูป (Ready Built Warehouse ) ระยะเวลา 30 ปี และสิทธิในการต่ออายุสัญญาเช่าทรัพย์สินอีก 30 ปี โดยอยู่ภายใต้การบริหารของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมอันดับหนึ่งของประเทศไทย
ลงทุนเพิ่มเติมในครั้งนี้ เป็นการลงทุนในพื้นที่เช่าอาคารทั้งหมดเป็นจำนวน 48,186 ตารางเมตร มูลค่ารวมไม่เกิน 1,345.89 ล้านบาท ภายหลังจากการลงทุนเพิ่มเติมจะส่งผลให้ กองทรัสต์ WHAIR มีพื้นที่เช่าภายใต้การบริหารเพิ่มขึ้นเป็น 428,818 ตารางเมตร และมีมูลค่าทรัพย์สินรวม แตะที่ระดับกว่า 13,181.55 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 11,771.71 ล้านบาท
จุดเด่นของทรัพย์สินที่เข้าลงทุนทั้งสองทำเลทั้งบริเวณอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง) และนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค กบินทร์ (จังหวัดปราจีนบุรี) ถือเป็นทำเลบนจุดยุทธ์ศาสตร์และเป็นศูนย์กลางการดำเนินธุรกิจโรงงานให้เช่าและคลังสินค้าให้เช่าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
จากการที่บริเวณอีสเทิร์นซีบอร์ด เป็นจุดเชื่อมโยงฐานการผลิตและการขนส่งสินค้าทั้งทางบก (ทางด่วนสายบางนา-ชลบุรี มอเตอร์เวย์ และถนนพหลโยธิน) ทางอากาศ (สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ สนามบินนานาชาติดอนเมือง และสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา) และทางน้ำ (ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือกรุงเทพ)
ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค กบินทร์ อยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรมของจังหวัดปราจีนบุรี และเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่ใกล้กรุงเทพมหานคร รวมถึงความสะดวกในการเดินทางไปยังท่าเรือแหลมฉบัง สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงยังสามารถเชื่อมต่อสู่พื้นที่การลงทุนใหม่ ๆ ของภูมิภาคอินโดจีน โดยทั้งสองทำเลมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี