นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ( FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน มิ.ย.65 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 64.57 ปรับตัวลดลง 23.1% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ในเกณฑ์ "ซบเซา" เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน
โดยนักลงทุนมองว่าการฟื้นต้วของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือเงินทุนไหลเข้า และนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ
สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ นโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่อาจนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจถดถอย (Recession) รองลงมาคือ ภาวะเงินเฟ้อจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก และความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 Omicron สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5
ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
ผลสำรวจ ณ เดือนมิ.ย. 65 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่าความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับลด 33.9% อยู่ที่ระดับ 69.57 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลด 25.9% อยู่ที่ระดับ 55.56 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับขึ้น 5.9% อยู่ที่ระดับ 87.50 และความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับลด 4.8% มาอยู่ที่ระดับ 57.14
อ่านเพิ่มเติม : รายงานดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ฉบับเดือนกรกฏาคม 2565
: "กอบศักดิ์"เตือนรับมือตลาดผันผวน คาดเดาตามแรงส่งเงินเฟ้อ ลงทุนยาก
อย่างไรก็ตาม ยังได้รับปัจจัยหนุนจากการที่ภาครัฐประกาศ มาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นของราคาพลังงาน และมาตรการหนุนภาคท่องเที่ยว ส่งผลให้ SET index ปิดที่ 1,568.33 จุด ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 65 ปรับตัวลดลง 5.7% จากเดือนก่อนหน้า
ในช่วงเดือน มิ.ย.65 SET Index เคลื่อนไหวในกรอบแคบอยู่ระหว่าง 1,557.61-1,660.01 จากความกังวลต่อสถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลก และความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่สภาวะถดถอยมากขึ้น หลังประธานเฟด และประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ ทำให้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 29,990 ล้านบาท เป็นการขายสุทธิในเดือนแรกหลังจากซื้อสุทธิมาตลอดตั้งแต่เดือน ธ.ค. 64
ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ แนวทางการรับมือของเฟด ต่อสถานการณ์เงินเฟ้อหลังอัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 40 ปี ความไม่แน่นอนของสงครามรัสเซียยูเครน ซึ่งยังคงเป็นความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านพลังงานในยุโรป รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) สถานการณ์เงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงจากราคาพลังงานในตลาดโลกและราคาวัตถุดิบในประเทศ และสถานการณ์การระบาดโควิด-19 Omicron สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5