นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ได้ รายงานผลประกอบการไตรมาส 2/2565 ว่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 2/2565 DTAC มีจำนวนผู้ใช้บริการทั้งหมดอยู่ที่ 20.3 ล้านราย เพิ่มขึ้น 412,000 รายจากไตรมาสก่อน รายได้ค่าบริการไม่รวม IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 2.5 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการแข่งขันที่เข้มข้น และรายได้ IDD ที่ลดลง EBITDA
สำหรับไตรมาส 2/65 มีมูลค่า 8,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมี EBITDA margin (normalized) แข็งแกร่งอยู่ที่ร้อยละ 41.5 ในไตรมาสที่ 2/65 และมีกำไรสุทธิสำหรับไตรมาสที่สองของปี 2565 คิดเป็น 1,004 ล้านบาท
“ไตรมาส 2 ปี 2565 สถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคของประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ เนื่องจากการผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศที่ทำให้นักท่องเที่ยวและแรงงานต่างด้าวเริ่มกลับเข้ามาในประเทศ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายยังคงอยู่จากผลกระทบของโควิด-19 และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นซึ่งส่งผลกระทบในทางลบต่อกำลังซื้อของลูกค้า การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการโทรคมนาคมยังคงทวีความรุนแรงขึ้นในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 แม้จะมีความท้าทาย แต่ดีแทคยังคงให้ความสำคัญในกลยุทธ์เพื่อส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้าต่อไป เราบรรลุเป้าหมาย 100% ในการขยายบริการ 5G ไปยัง 77 จังหวัดของประเทศไทย ในขณะที่ยังคงขยายโครงข่ายคลื่นความถี่ต่ำเพิ่มขึ้น 4,600 สถานีฐานในครึ่งแรกของปี 2565 ทำให้มีจำนวนสถานีฐานบนคลื่น 700 MHz ทั้งหมด 17,800 สถานี ณ สิ้นไตรมาสที่สอง จากความทุ่มเทนี้ทำให้เราสามารถรักษาคะแนนความพึงพอใจที่มีต่อเครือข่ายสุทธิอยู่ในระดับที่สูง มีการร้องเรียนในเรื่องโครงข่ายการให้บริการลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น 412,000 รายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565”
ขณะที่ นายนกุล เซห์กัล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงิน ดีแทค กล่าวว่า EBITDA สำหรับไตรมาส 2/65 เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 จากไตรมาสก่อน ได้รับผลกระทบทางบวกประมาณ ~1 พันล้านบาท จากค่าใช้จ่ายในการติดตั้งวงจรกรองสัญญาณรบกวนคลื่นความถี่ 900 MHz ที่สามารถนำไปหักออกจากค่าธรรมเนียม USO ตามประกาศของ กสทช. และได้รับผลกระทบทางลบจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการประมาณ 140 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว กำไรสุทธิสำหรับไตรมาสที่สองดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยได้แรงหนุนจาก EBITDA ที่สูงขึ้น หักล้างด้วยประมาณการผลเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์เพลิงไหม้มูลค่าประมาณ 560 ล้านบาท CAPEX สำหรับไตรมาสนี้อยู่ที่ 3,343 ล้านบาท
เนื่องจากผลกระทบที่ยืดเยื้อจากโควิด-19 และการแข่งขันที่เข้มข้น ดีแทคจึงได้ปรับปรุงแนวโน้มสำหรับปีงบประมาณ 2565 โดยบริษัทคาดว่าจะมีการส่งมอบรายได้จากการให้บริการ (ไม่รวมค่า IC) ที่คงที่จนถึงลดลงในอัตราร้อยละที่เป็นเลขหลักเดียวในระดับต่ำ ในขณะที่ EBITDA ซึ่งไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการ จะอยู่ในช่วงแนวโน้มที่ให้ไว้ และปรับระดับการลงทุนมาอยู่ที่ 11-13 พันล้านบาทตัวเลขสำคัญทางการเงิน ในไตรมาส 2 ปี 2565 (หลัง TFRS 15 และ 16)
รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่า IC 13,921 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
EBITDA อยู่ที่ 8,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 จากไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 2.8 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อัตรากำไร EBITDA (normalized) อยู่ที่ร้อยละ 41.5 กำไรสุทธิ 1,004 ล้านบาท.