ในปัจจุบัน Bitcoin ถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกมองว่าใกล้เคียงกับทอง เพราะ Bitcoin มีคุณสมบัติในเรื่องของจำนวนที่มีจำกัด บ่งบอกถึงความหายาก อีกทั้งยังใช้รูปแบบการขุด (Mining) เหมือนกับทอง แต่ใช้อุปกรณ์อย่างการ์ดจอ เพื่อใช้ในการประมวลผล เพื่อถอดรหัสตัวเลขที่เข้ารหัสด้วยกระบวนการขั้นสูงแทน ซึ่งแปลว่าถ้าเราจะขุด Bitcoin เราต้องมีการ์ดจอเป็นตัวแทนของเครื่องขุด Bitcoin และหากอยากขุดได้เร็ว และได้เยอะ ก็ต้องใช้พึ่งจำนวนของการ์ดจอที่เยอะขึ้นด้วย
โดยจำนวนทั้งสิ้นของ Bitcoin จะมีไม่เกิน 21 ล้านเหรียญ และคาดว่าจะถูกขุดจนหมดในปี 2140 หรืออีกประมาณ 108 ปีต่อจากนี้ แต่อะไรจะเกิดขึ้น ถ้า Bitcoin ถูกขุดจนหมดแล้วล่ะ พูดอีกนัยหนึ่ง จะไม่มี Bitcoin ถูกป้อนเข้ามาขายจากนักขุด (Miner) อีกต่อไป จะเหลือแค่การซื้อขายระหว่างคนมีของ กับคนไม่มีของบนกระดานแลกเปลี่ยน (Exchange) และการแลกเปลี่ยนโดนตรง (Peer-to-Peer) เท่านั้น
Bitcoin ถูกออกแบบมาด้วยจุดประสงค์เดียวคือ ควบคุมปริมาณของฝั่งอุปทานไม่ให้เกิดการเฟ้อจนควบคุมได้ยาก ด้วยการควบคุมปริมาณการเกิดของเหรียญ Bitcoin ในระบบจากกระบวนการ halving ไปเรื่อยๆ จนกว่าเหรียญจะถูกขุดมาครบ 21 ล้านเหรียญ ซึ่งปัจจุบันกว่า 19 ล้านเหรียญ Bitcoin ถูกขุดออกมาเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2009 นั่นเท่ากับว่าเหลืออีกราว 2 ล้านเหรียญเท่านั้นที่ยังสามารถขุดได้
นักขุดที่เริ่มเข้ามาในวงการ สิ่งที่พวกเขาจะได้นอกเหนือจาก Bitcoin ที่เกิดจากการขุด ยังได้ค่าธรรมเนียมจากการที่คนอื่นใช้บริการแลกเปลี่ยนเหรียญไปมาบนเครือข่าย เพราะพวกเขาทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการยืนยันธุรกรรมของผู้ใช้บริการเหล่านี้ นั่นหมายความว่าสิ่งที่จะหายไปจากการขุด คือ จะไม่ได้เหรียญจากการขุดแล้ว นักขุดจะเหลือเพียงหน้าที่เดียว คือ ยืนยันธุรกรรมให้กับระบบ ซึ่งจะกลายเป็นรายได้หลักเพียงช่องทางเดียวของกลุ่มคนเหล่านี้
เหตุการณ์ดังกล่าว จะทำให้เหล่านักขุดหน้าใหม่จะไม่อยากซื้อการ์ดจอทำเหมืองอีกต่อไปแล้วหรือเปล่า นี่ยังไม่ได้พูดถึงเหล่านักขุดที่ยังอยู่ พวกเขาจะยังอยู่เพื่อช่วยยืนยันธุรกรรมต่อไปไหม ในเมื่อช่องทางด้านรายได้เหลืออยู่เพียงช่องทางเดียว และไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าในอนาคตค่าธรรมเนียมที่ได้จากการช่วยยืนยันธุรกรรมจะช่วยสร้างกำไรเพียงพอต่อการทำต่อหรือเปล่า รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการยกเครื่องขุดให้ทันสมัย โดยรวมแล้วต้นทุนในการคงอยู่ในระบบอาจจะไม่คุ้มค่าให้ขุดต่อไปก็ได้
ตรงส่วนนี้จะส่งผลโดยตรงต่อความกระจายศูนย์ของ Bitcoin เพราะผู้ยืนยันธุรกรรมมีอยู่ไม่กี่กลุ่ม และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ทำให้ควบคุมระบบเครือข่ายได้ง่าย อาจเป็นช่องว่างในการโจมตีแบบ 51% Attack กับเครือข่ายด้วย และท้ายที่สุด ไม่มีคนคอยช่วยยืนยันธุรกรรมจากนักขุด เครือข่าย Bitcoin ก็จะหยุดลง
นี่ยังไม่พูดถึงกรณีของราคาที่ตอนท้ายจะเหรียญไม่สามารถขุดได้อีกแล้ว ราคามันผันผวนตามอุปสงค์และอุปทานของระบบ แต่หากไม่มีการใช้งานในเชิงปฎิบัติอย่างการใช้เพื่อจ่ายเงินเดือน จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคในชีวิตประจำวันเลย การครอบครอง Bitcoin ก็คงไม่มีมูลค่าอะไรเช่นกัน
หรือในทางกลับกัน 108 ปี ข้างหน้าเป็นช่วงระยะเวลาที่ไกลมาก ณ เวลานั้น สิ่งที่เป็นไปได้ของ Bitcoin คงมีแค่ 0 กับ 1 นั่นคือ ตลาดคริปโตอาจจะตกต่ำจนไม่มีใครสนใจ Bitcoin เลย หรือไม่ก็ตลาดคงโตแบบก้าวกระโดด สถาบันการเงินขนาดใหญ่, รัฐบาล, IMF อาจจะให้ความสนใจกับ Bitcoin แล้ว กลุ่มทุนเหล่านี้จะเป็นหนึ่งใน Validator Node ที่มาช่วยประมวลธุรกรรมใน Bitcoin แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอีก 108 ปีข้างหน้า Bitcoin จะเป็นแม่แบบที่ดีของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลและอุตสาหกรรมบล็อกเชนกับ Financial System ในอนาคตแน่นอนครับ
แต่พัฒนาการ ณ ปัจจุบันเรียกได้ว่า Bitcoin ไปได้ไกลมากกว่าเดิมจากจุดเริ่มต้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นในเชิงของการยอมรับเป็นสินทรัพย์ และระบบที่คนส่วนใหญ่เริ่มสามารถเข้ามาใช้งานผ่านเครือข่ายได้ง่าย ปลอดภัยขึ้น รวมถึงความรวดเร็วจากการใช้งานผ่าน Lightning Network ที่เป็น Layer 2 ที่ครอบเครือข่าย Bitcoin อีกที เพื่อเสริมจุดอ่อนที่ค่าธรรมเนียมสูง และการทำธุรกรรมที่ช้า อีกทั้งยังการยอมรับในการใช้งานกว้างขวางในรูปแบบของสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนก็มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของบทความข้างต้นเป็นเพียงหนึ่งในความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้นผ่านความเห็นของผู้เขียน จากผลกระทบของเหตุการณ์ที่เหรียญ Bitcoin จะถูกขุดจนครบ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแน่นอน และหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ส่งผลกระทบต่อตลาดคริปโตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าระหว่างทางพัฒนาการของเครือข่ายยังมีเสถียรภาพที่เติบโตไปข้างหน้ามากแค่ไหน การยอมรับยังคงมีแนวโน้มเติบโตขึ้นไหม
ท้ายที่สุดมุมมองในบทความนี้ อาจจะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงระหว่างการเดินทาง 100 ปีข้างหน้านี้ก็ได้ ในตอนนี้เราทำได้แค่เพียงคาดการณ์ความเป็นไปได้ของข้อมูล ณ ตอนนี้ และคอยเตรียมตัวเผื่อเหตุการณ์ในเชิงลบที่อาจจะเกิดต่อผู้ลงทุนอย่างเราเอาไว้ด้วย