สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) สื่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่น รายงานการชะลอเข้าซื้อหุ้น 51% ของ เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) ใน บริษัท บิทคับ (Bitkub) แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโตรายใหญ่ที่สุดของไทย ซึ่งมีมูลค่า 17,850 ล้านบาท หรือราว 487 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไร้กำหนด นั่นอาจทำให้สถานะบริษัทสตาร์ทอัพระดับ ‘ยูนิคอร์น’ ของบิทคับต้องเป็นหมัน เหตุผลการชะลอแผนการครั้งนี้เป็นเพราะกฎระเบียบควบคุม ธุรกรรมคริปโต ที่เข้มข้นของไทยมีผลต่อการเติบโตของธุรกิจการซื้อขายแลกเปลี่ยน สินทรัพย์ดิจิทัล
สื่อใหญ่ของญี่ปุ่นรายงานอ้างอิงเจ้าหน้าที่อาวุโสของ SCBX ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ระบุว่า “เราได้ชี้แจงอย่างชัดเจนในแถลงการณ์ของเราต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าข้อตกลงดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาอย่างรอบคอบ เราไม่รู้ว่าจะปิดดีลได้เมื่อไหร่”
การตัดสินใจเลื่อนแผนการเริ่มชัดเจนเมื่อต้นเดือน ก.ค.2565 เมื่อ SCBX ได้ส่งจดหมายอย่างเป็นทางการ ถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. เพื่ออธิบายสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCBX กล่าวในแถลงการณ์ว่า ปัจจุบันเรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบสถานะ และหารือกับหน่วยงานกำกับดูแล ดังนั้น ระยะเวลาที่เสร็จสมบูรณ์ของแผนการซื้อหุ้นครั้งนี้จึงขยายออกไปก่อน
ทั้งนี้ SCBX แสดงเจตจำนงที่จะเข้าถือหุ้นใน Bitkub ผ่าน SCB Securities ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเดือนพ.ย.2564 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การเดินหน้าสู่การเป็นบริษัทฟินเทค (fintech) ระดับภูมิภาค
โดยข้อตกลงดังกล่าว เดิมคาดหมายว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปีนี้ (2565) ซึ่งจะทำให้ Bitkub มีมูลค่า 35,000 ล้านบาท (1,050 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และก้าวเข้าสู่สถานะ ‘ยูนิคอร์น’ ซึ่งหมายถึงบริษัทสตาร์ทอัพที่มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ประกาศกฎระเบียบที่เข้มงวดยิ่งขึ้นเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซี และข้อจำกัดการใช้เงินคริปโตสำหรับการชำระเงิน เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถซื้อขายได้เป็นสินทรัพย์บนแพลตฟอร์มที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ราคาบิตคอยน์ทั่วโลกปรับร่วงลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนในการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีก็ย่ำแย่ลงเมื่อพวกนักลงทุนเริ่มขาดทุน ความหวังของ Bitkub ในการที่จะขยายฐานลูกค้าจึงแผ่วลงตาม
นเรศ เหล่าพรรณราย เลขาธิการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เปิดเผยกับนิกเคอิว่า กฎระเบียบที่เข้มงวดนั้นค่อนข้าง “ไม่เป็นมิตร” กับอุตสาหกรรมคริปโต ทั้งยังจำกัดการเติบโตของการซื้อขายคริปโตให้ต่ำกว่าที่คาดคิดกันเอาไว้
เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้กำหนดบทลงโทษทางแพ่งต่อ สกลกรย์ สระกวี ประธานกรรมการ บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (Bitkub Capital Group Holdings Co., Ltd.) ฐานปลอมแปลงข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลบนแพลตฟอร์มของบิทคับ
สกลกรย์ถูกปรับเป็นเงิน 8 ล้านบาท (218,000 ดอลลาร์) และถูกแบนจากตำแหน่งผู้บริหารในบริษัทเป็นเวลา 12 เดือน เขาคนนี้เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Bitkub ร่วมกับ “ท็อป” จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท
“เนื่องจากกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นในประเทศไทย ทำให้บิทคับตั้งใจขยับขยายฐานไปสู่ประเทศเวียดนาม ซึ่งมีเด็กรุ่นใหม่ที่เข้าใจคริปโต และบรรยากาศภาพรวมก็เป็นมิตรกับคริปโตมากกว่า” นายสกลกรย์กล่าว
เมื่อเดือนเม.ย.2565 บิทคับเข้าร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีของเวียดนาม เปิดตัวบริษัทร่วมทุน คับเทค (Kubtech) ในฐานะผู้ดำเนินการบล็อกเชน ที่มีเป้าหมายจะยกระดับปรับเปลี่ยนไปเป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตและสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคตอันใกล้
"เราได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์บางอย่างบนแพลตฟอร์มบล็อกเชนของเรา ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลในการซื้อขาย เช่น เกม จากนั้นก็จะรอให้โครงสร้างพื้นฐาน 5G และหน่วยงานกำกับดูแล (ของเวียดนาม) มีความพร้อม เราถึงจะเข้าสู่แพลตฟอร์มคริปโต” สกลกรย์กล่าวเกี่ยวกับแผนการรุกขยายธุรกิจคริปโตในเวียดนาม
แม้ว่าในปี 2560 ธนาคารกลางของเวียดนามจะสั่งห้ามการใช้สกุลเงินดิจิทัลเป็นวิธีการชำระเงิน แต่การลงทุนในบิตคอยน์และสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในเวียดนามก็มีมาเนิ่นนานนับ 10 ปีแล้ว มีกลุ่มผู้ค้าสกุลเงินคริปโตจำนวนมากหลายร้อยราย อีกทั้งจำนวนสมาชิกผู้ใช้บริการเหล่านี้มีจำนวนหลายพันคนจากทุกชั้นชนในสังคมเวียดนาม
ข้อมูลอ้างอิง