หลังธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศโครงการเดินหน้าเชิงกลยุทธ์มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ในการเร่งลงทุนยกระดับเทคโนโลยีต่างๆ การซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี รวมถึงผนึกกำลังพาร์ทเนอร์เชิงพาณิชย์ และยกระดับองค์กรไปอีกขั้น เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการธนาคารให้กับคนไทยและคนที่มีธุรกิจเล็กๆ เป็นของตัวเอง แต่ยังไม่เคยเข้าถึงบริการธนาคารให้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์การเงินและคำแนะนำของธนาคารได้มากยิ่งขึ้น
ล่าสุดนางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด(มหาชน) KBANK เปิดเผยว่า ภายใต้กลยุทธ์ ชาเลนเจอร์ แบงก์ กสิกรไทยยังเดินหน้าขยายกิจการไปในต่างประเทศทั้ง อินโดนีเซีย เวียดนาม และ AEC+3 (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) ซึ่งโจทย์ตอนนี้คือ เดินหน้าตามแผนในแต่ละประเทศเหล่านี้ให้ดี เพื่อเป็นแขนขาในการเสวงหาพันธมิตร บริษัทเทคโนโลยี (TECH FIRM) จากต่างประเทศ
ส่วนรูปแบบที่จะเข้าไปขึ้นกับนโยบายของแต่ละประเทศ อาจจะซื้อกิจการ หรือร่วมมือกับธนาคารอื่นหรือลงทุนในเทคโนโลยี สตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จแล้ว ซึ่งในหลักการซื้อกิจการนั้น เพื่อให้ได้ใบอนุญาต (License)
ขณะที่แผนขยายฐานลูกค้าในต่างประเทศผ่านโมบายนั้น ปัจจุบันประเทศไทยมี Mobile Banking มากที่สุดใน โลกอยู่แล้ว ซึ่งกสิกรไทยมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ของประเทศทำให้กสิกรไทยได้เป็นที่หนึ่งของโลกด้วย
“ส่วนตัวมีความเชื่อว่า อุตสาห กรรมแบงค์ยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งเหมือนเดิมและยังอยู่ได้เรื่อยๆ โดยมีเป้าหมายการเติบโตด้วยความระมัดระวัง ทั้งในรูปแบบซื้อหุ้น/กิจการ และการลงทุนบางส่วนในบริษัท Tech Company ในไทยและต่างประเทศ ซึ่งหลายบริษัทมีลักษณะเดียวกันภายใน 3 ปี” นางสาวขัตติยากล่าว
ในแง่การเติบโตสินเชื่อนั้น กสิกรไทยต้องการขยายสินเชื่อไปยังกลุ่มคนตัวเล็กหรือกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากกลุ่มนี้มีผลตอบแทนสอดคล้องกับความเสี่ยง “High risk-High return” โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออก Financial Landscape ที่เป็นสินเชื่อบุคคลดิจิทัล (Digital Personal Loan) เพื่อ ปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีรายเล็กๆ ซึ่งกลุ่มนี้มีฐานลูกค้า 19 ล้านราย โดยที่ 10 ล้านรายได้รับสินเชื่อแล้ว ที่เหลือจึงเป็นโอกาส โดยทดลองทำตลาดไปก่อน ไม่ได้กำหนดเงินเดือนหรืออะไรให้ชัด เพราะเป็กลุ่มอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน
“ส่วนใหญ่ยังเน้นเติบโตในประเทศ โดยเจาะเอสเอ็มอีรายเล็กๆ ซึ่งตอนนี้ลูกค้าจะลำบากมาก หากธนาคารไม่ช่วยคนกลุ่มนี้ประเทศชาติก็คงไม่เติบโตเหมือนกัน แต่เราทดลองทำตลาดมา 2 ปีโดยร่วมกับบริษัท กสิกร ไลน์ จำกัดหรือ LINE BK ในการปล่อยสินเชื่อผ่านผลิตภัณฑ์ “Buy now pay later” พบว่า มี Fraud รวมอยู่ด้วยทั้งสร้างบัญชีและสวมตัวบุคคล ยอมรับว่า กลุ่มนี้มีความเสี่ยงมาก ไม่มีหลักแหล่ง และโอกาสที่จะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) 4-5%”นางสาวขัตติยากล่าว
นายพิพิธ อเนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทยกล่าวว่า ปีหน้า กสิกรไทยเตรียมเปิดสาขาในจีนเพิ่มที่ปักกิ่ง จากปัจจุบันที่มีสาขาให้บริการที่ฮ่องกง เซินเจิ้น เฉินตู เซี่ยงไฮ้ และสาขาย่อยอีก 1 แห่ง ที่เหลือจะเป็นการลงทุนผ่านสตาร์ตอัพ ฟินเทค ทั้งนี้รูปแบบดิจิทัลและ Physical Bank ภายใต้แผนลงทุน 4-5 ปี ซึ่งการขยายสาขา เป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้าไปลงทุนและเป็นพันธมิตร
ส่วนความคืบหน้าการหาพันธมิตรร่วมทุนในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด (KASSET) นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคาร กสิกรไทยกล่าวว่า กสิกรไทยต้องการพันธมิตรร่วมลงทุนด้านระบบ เพื่อยกระบบงานหลังบ้านให้มีศักยภาพในการบริหารกองทุนและเสนอขายผลิตภัณฑ์ ซึ่งที่ผ่านมามีบลจ.ระดับโลกแสดงความสนใจที่จะเข้าลงทุน 5-6 ราย แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป
“เรายังไม่กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นและราคา จริงๆ เราคุยกับผู้สนใจมาเป็นปีแล้ว แต่หลักการหาพันธมิตรร่วมลงทุนนั้น เราไม่อยากให้ดีลจบมากเท่ากับอยากได้คนที่ใช่ ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อคุยกันแล้วก็เลิกกันไป ซึ่งต้องมาคุยอะไรกันใหม่”นายพัชรกล่าว
ส่วนภาพรวมในการปล่อยสินเชื่อครึ่งปี 2565 นายพัชรกล่าว สินเชื่อรายใหญ่ทรงตัว จากปัจจัยเศรษฐกิจชะลอตัว ส่วนสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อรายย่อยยังโตกว่า 10% ตามเป้าหมาย แต่ยังเป็นห่วงเอ็นพีแอล ที่ยังลุ้นกันอยู่ แต่ก็หวังว่า จะไม่พุ่งขึ้น โดยรายเล็กรายน้อยจะเน้นปรับโครงสร้างหนี้ แม้ว่าจะมีบ้างที่ปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วจะกลับมาเป็นเอ็นพีแอลใหม่
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,804 วันที่ 28 - 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2565