นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเปิดเผยว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ได้ตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพโครงการคนละครึ่ง ซึ่ง เป็นหนึ่งในโครงการตามมาตรการรักษาระดับการบริโภคของประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจนถึงระดับฐานราก โดยการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและเพิ่มอุปสงค์การบริโภคภายในประเทศ อันจะส่งผลให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ
ทั้งนี้ โครงการ คนละครึ่ง แบ่งเป็น 4 ระยะ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ถึงเดือนเมษายน 2565 มีกลุ่มเป้าหมายในแต่ละระยะ ได้แก่ ประชาชนสัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันลงทะเบียน มีบัตรประจำตัวประชาชน และไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 10 ล้านคน / 15 ล้านคน / 28 ล้านคน / 29 ล้านคน รวมวงเงินที่ใช้ในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น 213,300 ล้านบาท
จากการตรวจสอบพบว่า
ทั้งนี้จากการตรวจสอบพบว่ามีผู้ใช้สิทธิในระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 4 จำนวน 9.98 ล้านคน / 14.79 ล้านคน / 26.35 ล้านคน / 26.38 ล้านคน ตามลำดับ หรือคิดเป็นร้อยละ 99.76 / 98.62 / 94.10 / 90.98 ตามลำดับ ซึ่งแม้ภาพรวมจะมีจำนวนผู้ใช้สิทธิมากกว่า 90% ของกลุ่มเป้าหมาย แต่การที่จำนวนผู้ใช้สิทธิต่ำกว่าค่าเป้าหมายตัวชี้วัดที่โครงการฯกำหนด
ประกอบกับผู้ใช้สิทธิบางรายไม่ได้ใช้จ่ายครบตามวงเงินที่ได้รับ ส่งผลให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณไม่เป็นไปตามงบประมาณที่ขอรับจัดสรรไว้ ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2565 มีเงินงบประมาณคงเหลือที่ยังไม่ได้ เบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 23,153.14 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินงบประมาณดังกล่าวเป็นเพียงการกันวงเงินงบประมาณ แต่หากการกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดสูงเกินกว่าจำนวนผู้ใช้สิทธิมากจะทำให้เกิดค่าเสียโอกาสที่ รัฐบาลจะนำเงินในส่วนนี้ไปใช้ในโครงการอื่น ๆ ที่สำคัญและเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือประชาชน สังคม และเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19
“สาเหตุที่จำนวนผู้ใช้สิทธิไม่เป็นไปตามค่าเป้าหมายตัวชี้วัดเกิดจากสภาพแวดล้อมและปัจจัยภายนอกช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโยบายภาครัฐ เพื่อช่วยลดและป้องกันการแพร่ระบาด เช่น การขอความร่วมมือจากประชาชนให้ทำงานที่บ้าน (Work from Home) ประกอบกับประชาชนมีความตระหนักในการป้องกันตนเองจากการแพร่ระบาดในแต่ละรอบจึงอาจส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้เข้าร่วมโครงการฯ และจำนวนผู้ใช้สิทธิของโครงการฯ”
ขณะเดียวกัน จากการตรวจสอบพบว่า มีร้านค้าและประชาชนที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ และหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการฯ ได้จัดส่งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงการระงับสิทธิการใช้งานแอปพลิเคชัน และเรียกเงินคืน 296 ราย ซึ่งเกิดจากการตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมการซื้อขายสินค้าและบริการที่มีความผิดปกติและนำไปสู่การสืบสวนขยายผลการกระทำผิด
แม้ว่าจะมีการประชาสัมพันธ์เพื่อป้องปรามการกระทำผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการปรับปรุงพัฒนาแอปพลิเคชันเป๋าตังและถุงเงินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงตรวจพบการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ อยู่เป็นระยะ ๆ
ทั้งนี้ สตง. มีข้อสังเกตว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการฯ มีภารกิจหลักที่ไม่สอดคล้องกับโครงการฯ เมื่อตรวจพบผู้ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ ซึ่งต้องใช้เวลาในการตรวจสอบเอกสารจำนวนมากจึงส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานภายใต้ภารกิจของหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการฯ
ดังนั้น สตง. จึงมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่กำกับดูแลและหน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาจำนวนเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในระยะถัดไปให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้จำนวนเป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการฯ ใกล้เคียงกับจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการจริงให้มากที่สุด
ขณะเดียวกัน ช่วงเวลาดำเนินการ ควรกำหนดให้มีการติดตามและประมาณการจำนวนผู้ใช้สิทธิอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทราบถึงแนวโน้มการเบิกจ่ายงบประมาณและงบประมาณคงเหลือที่จะเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโครงการและสิ้นสุดการดำเนินโครงการ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรและดูแลงบประมาณสามารถวางแผนและบริหารจัดการงบประมาณคงเหลือได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม
รวมถึงนำไปใช้ประโยชน์กับโครงการอื่นได้ทันท่วงที โดยไม่ต้องรอให้สิ้นสุดระยะเวลาดำเนินโครงการ เช่น การคืนวงเงินของผู้ที่ไม่เริ่มใช้สิทธิครั้งแรกภายในกำหนดระยะเวลา การทยอยคืนวงเงินของผู้ใช้สิทธิที่จะไม่สามารถใช้วงเงินเต็มจำนวนได้ทันกำหนดระยะเวลา
นอกจากนี้กรณีที่มีการจัดทำโครงการลักษณะเดียวกันในระยะต่อไป ควรมอบหมายให้หน่วยงานที่มีภารกิจสอดคล้องกับโครงการฯ มาเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ และควรพิจารณาทบทวนแนวทางการสร้างความโปร่งใสและป้องกันการทุจริตในการดำเนินโครงการฯ โดยเน้นย้ำขั้นตอนในการลงทะเบียนหรือระหว่างการใช้งานแอปพลิเคชันแก่ประชาชนและร้านค้าให้ตระหนักรู้ว่ามีระบบการติดตาม ตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดปกติ และนำไปสู่การสืบสวนขยายผลการกระทำผิดได้