ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 33,706.74 จุด ลดลง 292.30 จุด หรือ -0.86%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,228.48 จุด ลดลง 55.26 จุด หรือ -1.29% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,705.22 จุด ลดลง 260.13 จุด หรือ -2.01%
ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ลดลง 0.2%, ดัชนี S&P500 ลดลง 1.2% และดัชนี Nasdaq ลดลง 2.6% ซึ่งดัชนีทั้ง 3 ตัวลดลงรายสัปดาห์เป็นครั้งแรก หลังจากปรับตัวขึ้น 4 สัปดาห์ติดต่อกัน
หุ้น 9 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปิดลดลง โดยกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยและกลุ่มการเงินร่วง 2.1% และ 2.02% ตามลำดับ ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มเฮลท์แคร์ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย
ดัชนี S&P หุ้นกลุ่มธนาคาร ร่วงลง 2.1% หลังจากปรับตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
นแอมะซอน.คอม , หุ้นแอปเปิล และหุ้นไมโครซอฟท์ลดลง และถ่วงดัชนี S&P500 และดัชนี Nasdaq ลงมากที่สุด โดยอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มที่จะเป็นปัจจัยลบต่อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและหุ้นกลุ่มเติบโต ซึ่งมูลค่าหุ้นขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดในอนาคต
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่พุ่งขึ้นกดดันตลาด โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นเกือบแตะระดับ 3% หลังเยอรมนีรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) รายเดือนเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์
นายโธมัส บาร์คิน ประธาน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)สาขาริชมอนด์กล่าวในวันศุกร์ว่า เจ้าหน้าที่เฟดยังคงมีเวลาอีกมากก่อนที่จะตัดสินใจว่า จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเพียงใดในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 20-21 ก.ย.
นักลงทุนจะจับตาการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิงในวันที่ 25-27 ส.ค.นี้ โดยคาดว่าเฟดจะส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ ทิศทางอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งการปรับลดขนาดงบดุล (QT) ของเฟด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ซึ่งหัวข้อในการประชุมประจำปีนี้คือ "Reassessing Constraints on the Economy and Policy" โดยนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด จะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในวันที่ 26 ส.ค.เวลา 10.00 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 21.00 น.ตามเวลาไทย