ดาวโจนส์ปิดลบ 337.98 จุด จากความวิตกวิกฤตพลังงานยุโรป

02 ก.ย. 2565 | 23:56 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ย. 2565 | 07:03 น.

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลดลงในวันศุกร์ (2 ก.ย.) โดยถูกกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับวิกฤตพลังงานในยุโรป หลังจากที่ปรับตัวขึ้นในช่วงแรกขานรับการเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่า ตลาดแรงงานอาจเริ่มชะลอตัวลง ซึ่งช่วยลดแรงกดดันที่เฟดจะต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดที่ 31,318.44 จุด ลดลง 337.98 จุด หรือ -1.07%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,924.26 จุด ลดลง 42.59 จุด หรือ -1.07% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,630.86 จุด ลดลง 154.26 จุด หรือ -1.31%

 

ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 3%, ดัชนี S&P500 ร่วง 3.3% และดัชนี Nasdaq ร่วงลง 4.2% โดยดัชนีทั้ง 3 ตัวปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกันแล้ว

 

นักวิเคราะห์ระบุว่า ตลาดปรับตัวลงรุนแรงขณะที่การซื้อขายเป็นไปอย่างเบาบางก่อนวันหยุดยาวในสุดสัปดาห์นี้ โดยตลาดหุ้นสหรัฐจะปิดทำการในวันจันทร์ที่ 5 ก.ย. เนื่องในวันแรงงาน

 

ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นอย่างมากในช่วงเปิดตลาด หลังการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนส.ค.ของสหรัฐบ่งชี้ว่า มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเกินคาด แต่อัตราการว่างงานที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.7% ได้คลายความวิตกที่ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงเพื่อลดเงินเฟ้อ

แต่ตลาดหุ้นสหรัฐได้พลิกกลับลงสู่แดนลบ หลังบริษัทก๊าซพรอมของรัฐบาลรัสเซียเปิดเผยว่า บริษัทอาจไม่สามารถเริ่มการส่งมอบก๊าซได้อย่างปลอดภัยจนกว่าจะซ่อมแซมเกี่ยวกับปัญหาการรั่วไหลของก๊าซที่พบ และไม่ได้ให้กำหนดเวลาใหม่ในการเริ่มส่งก๊าซ จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มส่งออกก๊าซผ่านท่อส่งไปยังยุโรปในวันเสาร์ (3 ก.ย.)

 

หุ้นกลุ่มพลังงานเป็นกลุ่มเดียวในดัชนี S&P500 ที่ปิดตลาดในแดนบวก

 

ขณะนี้นักลงทุนจะมุ่งความสนใจไปที่การเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนส.ค.ในช่วงกลางเดือนนี้ ก่อนที่เฟดจะประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 20-21 ก.ย.

ความวิตกเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกนั้นได้ฉุดราคาหุ้นลงหลังแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนในช่วงกลางเดือนส.ค. โดยดัชนี S&P500 ร่วงลงราว 4% แล้วนับตั้งแต่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ แสดงความเห็นสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 315,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. ใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 300,000 ตำแหน่ง และชะลอตัวจากระดับ 526,000 ตำแหน่งในเดือนก.ค. ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.7% จากระดับ 3.5% ในเดือนก.ค.

 

ส่วนตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ดีดตัวขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบรายปี โดยตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ