ภายหลัง Bitkub ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า นายสำเร็จ วจนะเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (BBT) ยังปฎิบัติหน้าที่ต่อ และนายสำเร็จ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ว่าพร้อมต่อสู้คดี ภายหลังคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งลงโทษรายบุคคล ต่อ กรณีซื้อโทเคนดิจิทัล Bitkub Coin (เหรียญ KUB) โดยเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน โดยให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินรวม 8,530,383 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารเป็นเวลา 12 เดือน
ล่าสุดนายสำเร็จ วจนะเสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (BBT) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าขณะนี้ยังไม่ได้รับเข้าไปรับแจ้งข้อกล่าวหาจาก ก.ล.ต. ที่มีกำหนดไว้ 10 วัน อย่างไรก็ตามจะเข้าไปพบ ก.ล.ต.ในวันที่ 7 กันยายนนี้ ซึ่งหลังจากพบ ก.ล.ต.ถึงจะตัดสินใจว่าจะยอมรับข้อกล่าวหา ยอมเสียค่าปรับ หรือต่อสู้คดี
“ถ้าหากยอมรับเสียค่าปรับ ก็ไม่ได้หมายว่ายอมรับผิด แต่เพื่อประนีประนอม เพื่อให้ทุกอย่างมันจบ ซึ่งการเป็นคดีต้องเสียเวลาในการสู้คดีนาน กรณีถ้าไม่จ่ายค่าปรับต่อสู้คดี ก.ล.ต.ก็ยื่นอัยการฟ้องศาลแพ่งภายใน 7 วัน ซึ่งผมต้องขอเข้าพบ ก.ล.ต. เพื่อขอรับทราบข้อมูลก่อนถึงตัดสินใจว่าจะยอมเสียค่าปรับหรือต่อสู้คดี”
นายสำเร็จ กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมาตนได้เข้าไปชี้แจงเรื่องนี้กับ ก.ล.ต. พร้อมส่งหลักฐาน ทรานเซ็กชันทุกวินาที เมื่อเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งนึกว่าจบแล้ว ไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้ว ตนขอยึนยันว่าไม่ทราบข้อมูลอินไซด์การซื้อขายหุ้น ระหว่างเอสซีบีเอส กับบิทคับออนไลน์ เพราะทำงานที่บริษัทบิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด เป็นคนละบริษัทกับบริษัทบิทคับออนไลน์ จำกัด ซึ่ง บริษัทบิทคับ ออนไลน์ จำกัด ก็ไม่ได้แจ้งตนว่ามีการซื้อขายหุ้น หรือมีคำสั่งห้ามซื้อขายเหรียญ KUB
ทั้งนี้ตัวผมเองต้องการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลระยะยาวจริงๆ การซื้อเหรียญ KUB เพื่อแลกเป็นค่าธรรมเนียมการเทรดใน Exchange และขณะนั้นก็ไม่ได้ลงทุนแค่เหรียญ KUB มีการลงทุนในเหรียญ SIX ที่ราคาขยับจาก 1 บาทไป 14 บาท อีกทั้งเหรียญ KUB ที่ซื้อมา 60,000 KUB ก็เป็นตัวเลขปกติไม่ได้สูง และขณะนี้ก็ยังถืออยู่ก็ยังไม่ได้ขายทำกำไร
“เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ ก.ล.ต.สั่งลงโทษคนเดียวคือผม โดยปกติหากมีการกล่าวโทษ จะแจ้งข้อหาผู้ให้ข้อมูล และผู้ได้รับข้อมูล นอกจากนี้ค่าปรับที่เรียกเก็บจากผม ยังเป็นค่าปรับที่มีอัตราสูงสุดจากการเรียกปรับรายบุคคล โดยก่อนนี้นายสกลกรย์ สระกวี ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานกรรมการบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ถูก ก.ล.ต.สั่งปรับไป 8,053,764 บาท และลงโทษ นายปรมินทร์ อินโสม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้มีอำนาจจัดการ บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด 6 ล้านบาท”
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ณ. 30 มิถุนายน 2565 พบว่า กลุ่ม Bitkub เป็นผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ถูก ก.ล.ต. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง สั่งลงโทษและสั่งปรับมากสุด โดยรวมเป็นเม็ดเงินก้อนโตเกือบ 45 ล้านบาท
โดยในวันที่ 5 -24 มกราคม 2564 บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ยินยอมให้บุคคลที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัท เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการงาน มีความผิดตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ถูกสั่งเปรียบเทียบปรับ 190,000 บาท
และวันที่ 1 มกราคม 64 -31 กรกฎาคม 64 บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด เก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าในระบบที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายเมื่อทำธุรกรรมเท่านั้น (cold wallet) น้อยกว่า 90% ของมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าทั้งหมด มีความผิดตามมาตรา 30 ถูกสั่งเปรียบเทียบปรับไป 858,000 บาท
ครั้งที่ 3 บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (trading rules) ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. โดยหยุดซื้อขายเหรียญดิจิทัลสกุล JFIN Coin (JFIN) และ Infinitus (INF) ชั่วคราว มีความผิดตามมาตรา 30 ถูกสั่งเปรียบเทียบปรับ 300,000 บาท
วันที่ 8 มกราคม 64-19 กรกฎาคม 64 บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ไม่รักษากลไกการทำงานของระบบซื้อขายให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย (surveillance) ไม่รัดกุมเพียงพอที่จะทำให้บิทคับทราบธุรกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นการผลักดันราคาจากการแจ้งเตือนของระบบในทันที ผิดตามมาตรา 30 ถูกสั่งปรับ 1,265,000 บาท
วันที่ 6 มกราคม 64-28 พฤษภาคม 64 บริษัท บิทคับ ออนไลน์ ขาดระบบงานที่รองรับการรวบรวมและประเมินข้อมูลลูกค้าไม่เหมาะสมและเพียงพอ มีความผิดตามมาตรา 30 พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ถูกสั่งปรับ 398,500 บาท
เดือนมกราคม 2564 บริษัท บิทคับ ออนไลน์ รายงานเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อระบบสารสนเทศที่มีความสำคัญ ประเภทระบบหยุดชะงัก ต่อก.ล.ต.ล่าช้ากว่าระยะเวลาที่ประกาศกำหนด ถึง 6 ครั้ง ผิดตามมาตรา 30 ถูกสั่งเปรียบเทียบปรับ 454,000 บาท
วันที่ 21 มกราคม 2564 บริษัท บิทคับ ออนไลน์ มีระบบงานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย ระบบรับฝากและถอนทรัพย์สิน และระบบการแสดงยอดทรัพย์สินของลูกค้า ไม่เหมาะสมและเพียงพอ ไม่ต่อเนื่อง มีความผิดตามมาตรา 30 ถูกสั่งเปรียบเทียบปรับ 305,000 บาท
วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 มีคำสั่งเปรียบเทียบปรับ Bitkub เป็นเงิน 2,533,500 บาท จากการจดทะเบียน Bitkub Coin เข้าซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BO) ทาง BO โดยคณะกรรมการคัดเลือก อนุมัติเหรียญ KUB เข้าซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ไม่ได้คำนึงถึงมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (COI) จึงมีความผิดตามมาตรา 30 พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ต่อมาพบการกระทำผิดอีกทั้งหมด 5 ครั้ง ตามมาตรา 94 ของ พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัล โดย นายอรรถกฤต ชิมผลาพิบูลย์ ในฐานะประธานกรรมการ, และนายพงศกร สุตันตยาวลี, นายปิยพงษ์ โคตรชนะ, นายสุกฤษฏิ์ พุทธวิริยะ, นายนิธิวัฒน์ มณีสินธุ์ ในฐานะกรรมการในคณะกรรมการคัดเลือกสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BO กระทำการหรือละเว้นกระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เป็นเหตุให้ BO คัดเลือก Bitkub Coin เข้าซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกและเพิกถอนสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ได้คำนึงถึงมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (COI) จึงมีคำสั่งเปรียบเทียบปรับ รายละ 2.5 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 12.66 ล้านบาท
และในวันที่ 30 กันยายน 2565 ก.ล.ต.ได้ดำเนินคดีด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด 3 ราย 1.บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด 2.นายอนุรักษ์ เชื้อชัย และ 3.นายสกลกรย์ สระกวี ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้มีอำนาจจัดการของบริษัทบิทคับ กรณีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัลในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ ของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด จึงสั่งให้ผู้กระทำผิดชำระเงินค่าปรับรวม 24.1 ล้านบาท
ทั้งนี้มาตรการลงโทษทางแพ่งเป็นกระบวนการบังคับใช้กฎหมายช่องทางใหม่ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559และพ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ โดยหลังมีการนำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาบังคับใช้ ค.ม.พ.มีมาตรการลงโทษตั้งแต่ปี 2560 ถึง 31 กรกฎาคม 2565 รวม 64 คดี ผู้กระทำผิด 329 ราย โดยตกลงบันทึกการยินยอม 48 คดี ผู้กระทำผิด 195 ราย คิดเป็นค่าปรับทางแพ่ง ชดใช้เงินทำผลประโยชน์ที่ได้รับและเงินชดใช้ค่าใช้จ่ายในการตรวสอบรวม 1,589 ล้านบาทที่นำส่งเข้ากระทรวงการคลัง และฟ้องคดีทางแพ่ง 16 คดี ผู้กระทำผิด 134 ราย