สอท. ชี้แผน PDP ไทยล้าสมัย แนะปรับแผน-เพิ่มความยืดหยุ่น

19 ก.ย. 2565 | 10:33 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2565 | 16:05 น.

สอท. ชี้แผน PDP ไทย เก่าล้าสมัย แนะปรับแผนใหม่พร้อมเพิ่มความยืดหยุ่น เอื้อสู่การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมไทย แนะผู้ทำแผน PDP คิดรอบด้านและชั่งน้ำหนัก ระหว่างความมั่นคงด้านพลังงาน หรือ เศรษฐกิจ สิ่งไหนสำคัญกว่ากัน

นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บรรยายหัวข้อ “บทบาทภาคเอกชน ต่อการขับเคลื่อนพลังงานสะอาด” ในงานสัมมนา NEW ENERGY : แผนพลังงานชาติ สู่ความยั่งยืน ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ โดยกล่าวว่า หลักคิดสากลในด้านพลังงานที่เป็นสากล จะเป็นรูปแบบ 3D คือ Digitalization Decarbonization และ Decentralization ขณะที่ไทยจะมี 1E ด้วย คือ Electrification แต่ไทยยังติดปัญหาสำคัญ คือเรื่องของการกำกับดูแล ซึ่งยังเป็นกฎเก่าที่ใช้มานาน 40-50 ปีแล้ว

สำหรับปัญหาที่ภาคผลิตหรือภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญ โดยในคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ  กกร. พบว่าสภาหอการค้าไทย คือ กลุ่มที่มีความต้องการใช้พลังงานสูงมาก ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม จะเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ และสมาคมธนาคารไทย คือ แหล่งสินเชื่อที่หล่อเลี้ยงให้ระบบทั้งหมดสามารถเดินหน้าได้

 

ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน และไทยได้รับผลกระทบอย่างมาก คือ European Green Deal หรือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งปัจจุบันได้ถูกนำกลับมาใช้แล้ว และจะเป็นตัวบีบคั้นภาคผลิตและภาคบริการของไทยต้องทำตาม

สอท. ชี้แผน PDP ไทยล้าสมัย แนะปรับแผน-เพิ่มความยืดหยุ่น

 

ทั้งนี้ โครงสร้างพลังงาน ทั้ง MIDGs , SDGs , ESG , BCG และ DJSI ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมานานเกือบ 20-30 ปีที่ผ่านมาจากการประชุมเรื่องภาวะโลกร้อนที่ประเทศบลาซิล ในปี 1992 ซึ่งทั้งหมด คือโครงสร้างที่ต้องนำมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ

 

โดยเฉพาะ DJSI ที่จะมาบีบให้การเข้ามาลงทุนในแบงก์พาณิชย์รวมถึงในประเทศไทย จะต้องทำตามโครงสร้างพลังงานดังกล่าว ซึ่งจะเป็นตัวบีบให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ จะต้องทำตาม ทั้งการใช้พลังงานสะอาด การมีคาร์บอนเครดิต และด้วยเงื่อนไขดังกล่าวก็จะมาบีบบริษัทขนาดเล็ก หรือ SME ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าให้อีกทอดหนึ่ง ซึ่งวงจรดังกล่าว ขณะนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว 

 

นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า ภาครัฐและเอกชนไทย มีมุมมองที่แตกต่างกัน โดยรัฐตั้งเป้าในอีก 28 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2050 จะต้องมี RE ไม่น้อยกว่า 50% มี EV 30% มี EE 30% และมีนโยบาย 4D1E

 

ในขณะที่ภาคเอกชน เช่น บริษัทโตโยต้า ตั้งเป้าใช้ CO2 Neutrality ให้ได้ในปี 2035 ทำให้บริษัทเดนโซ่ ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ ต้องตั้งเป้าใช้ RE 100% ให้ได้ภายในปี 2035 และส่งผลกระทบมาถึง SME ไทย ซึ่งถือเป็น Third Tier โดยหากไม่ทำ จะถูกปฏิเสธการสั่งซื้อสินค้า

 

“ยกตัวอย่าง คือ มีบริษัทข้ามชาติจากเดนมาร์ก ที่ใช้ไทยเป็นตลาดผลิตสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งบริษัทนั้นได้ประกาศต่อสาธารณะชนในประเทศเดนมาร์กและตลาดหลัก ว่า ภายใน 3-5 ปี จะใช้พลังงานสะอาด 100% ซึ่งไทยในฐานะที่เป็นฐานผลิต OEM ได้รับผลกระทบทันทีในวันรุ่นขึ้น”

 

นายสุวิทย์ ยกตัวอย่างอีกว่า 10 อุตสาหกรรมหลักของไทย ที่มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 9.4 ล้านล้านบาท หากโดนลดคำสั่งซื้อลง 10% มูลค่าการค้าจะหายไป 4 แสนล้านบาท แต่หากโดนลดคำสั่งซื้อลง 30% มูลค่าการค้าจะหายไปถึง 1.2 ล้านล้านบาท พร้อมระบุ การถูกลดคำสั่งซื้อลง น่ากลัวกว่าการย้ายฐานการผลิต เพราะหากลดคำสั่งซื้อลงจะเกิดผลกระทบขึ้นในทันที ขณะที่การย้ายฐานจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี  

 

“ความมั่นคงทางด้านพลังงาน หรือ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สิ่งไหนสำคัญกว่ากัน ผู้ทำแผน PDP จะต้องไปคิดให้หนัก เพราะตลาดส่งออกมีมูลค่ามากกว่าตลาดพลังงาน 10 ต่อ 1 ซึ่งนโยบายต่างๆ จะกลายเป็นสิ่งที่มากระทบต่อภาคอุตสาหกรรมโดยตรง”  

 

นายสุวิทย์ ได้กล่าวถึงผลงานวิจัยของบริษัทชั้นนำ ที่ระบุว่า มีกว่า 300 บริษัท ที่มี Renewable Energy หรือ RE targets ซึ่งเฉลี่ยตั้งเป้าไว้ในปี 2030 โดยที่น่ากังวลคือ ในจำนวนบริษัทดังกล่าว มี 170 กว่าบริษัท ที่มีสาขาอยู่ในไทย ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

 

นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยที่จะกำหนดชนิดเชื้อเพลิงและสัดส่วนที่เหมาะสม คือ การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมโลก ต้นทุนของพลังงานที่เหมาะสมซึ่งจะไปผูกกับต้นทุนของสินค้า โดยการที่มีพลังงานสะอาดไม่ได้แปลว่าภาคเอกชนจะซื้อสินค้าของเราเสมอไป

 

สุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สอท.

 

พร้อมยกตัวอย่าง หากมีโรงผลิตสินค้าเอง มีโรงผลิตไฟฟ้าใช้เอง โดยมีเครื่องปั่นไฟค่าไฟหน่วยละ 2 บาท และเสียภาษี 1 บาทรวมต้นทุน 3 บาท แต่ภาครัฐประกาศจะมีพลังงานสีเขียวเข้ามา เป็นไฟฟ้าสะอาดและมีกรีนคาร์บอน ขายในราคาหน่วยละ 4 บาท จึงเป็นคำถามว่า ผู้ผลิตจะเลือกแบบไหน ซึ่งเป็นมุมที่ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน

 

พร้อมระบุ กลไกเหล่านี้จะขับเคลื่อนได้ จะประกอบด้วย เรื่องของดีมานด์ซัพพลาย เรื่องของแพลตฟอร์มกลางในการเปลี่ยนแปลงพลังงานสะอาด เรื่องของการซื้อขายพลังงานสะอาด เรื่องของ Renewable Energy ที่เป็นมาตรฐานระดับสากล เรื่องของ ERC Sand Box หรือ การซื้อขายไฟฟ้าข้ามสายส่ง เรื่องของความโปร่งใสและเป็นธรรมในการเข้าถึงและราคา และสุดท้ายคือ เรื่องขององค์ความรู้

 

นายสุวิทย์ กล่าวในตอนท้ายว่า นับตั้งแต่ไทยมีแผน PDP แผนแรกมาในอดีต ก็มีการเดินตามแผนนั้น 100% แต่ตนมองว่า แผน PDP สามารถมีมากกว่า 1 ทางเลือกได้หรือไม่ และประกาศใช้พร้อมกันทั้งหมด เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น แม้จะทำได้ยาก แต่ก็ต้องทำ เพราะหากแก้ที่ต้นทางไม่ได้ ก็จะแก้ที่ปลายทางไม่ได้ด้วย