PRM เปิดแผนสร้างการเติบโตทุกกลุ่มธุรกิจสู่ Growth Mode

20 ก.ย. 2565 | 13:09 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2565 | 21:17 น.

‘บมจ.พริมา มารีน’หรือ PRM เปิดกลยุทธ์บริหารจัดการพอร์ตกองเรือ หลังเข้าซื้อกิจการของ TM ล่าสุดเตรียมขยายกองเรือเพิ่มอีก 3 ลำ มูลค่า 1,896 ล้านบาท มั่นใจครึ่งปีหลังเติบโตทุกกลุ่มธุรกิจสู่ Growth Mode จากการใช้เรือเต็มอัตรา 100% รับรู้รายได้เรือใหม่ และการขายเรือ

นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานกรรมการ บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ PRM เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นับเป็นความท้าทายเชิงบริหารจัดการพอร์ตกองเรือ เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดท่ามกลางวิกฤต Covid-19 และความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่มีความผันผวนเป็นอย่างมาก โดยบริษัทฯได้นำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในฐานะที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรม พร้อมหลักการบริหารจัดการที่มีความยืดหยุ่นเพื่อบริหารพอร์ตกองเรือที่มีความหลากหลาย ให้สอดคล้องความต้องการของตลาด สร้างการเติบโตอย่างมั่นคง และมีเสถียรภาพพร้อมแสวงหาโอกาสการลงทุนเพื่อเสริมขีดความสามารถในการให้บริการและผลักดันผลการดำเนินงานให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
    
 

ทั้งนี้ จากการเข้าลงทุนซื้อกิจการ บริษัท ทรูธ มาริไทม์ (จำกัด) หรือ TM (เดิมคือ บริษัทไทยออยล์มารีน จำกัด) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มไทยออยล์ เป็นการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญของ PRM ซึ่งจะขับเคลื่อนการเติบโตในระยะยาว จากการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับกลุ่มไทยออยล์ ที่ให้บริการเรือขนส่งปิโตรเลียมระหว่างประเทศ ด้วยเรือ VLCC ขนาดบรรทุก 300,000 DWT จำนวน 3 ลำ ภายใต้สัญญาระยะยาว 10 ปี อันจะช่วยสร้างความมั่นคงของรายได้ให้แก่บริษัทฯ

    
 

การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถการให้บริการเพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจ จากการรับเรือขนส่งปิโตรเคมีจำนวน 5 ลำ ที่มีความต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้นและเรือขนส่งเพื่อการสำรวจและการผลิตน้ำมันกลางทะเล (เรือ Crew Boat) อีก 13 ลำ เพื่อรองรับกิจกรรมทางทะเลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นการปรับพอร์ตกองเรือ ที่ทำให้บริษัทฯ สามารถเอาชนะความท้าทายและมีความแข็งแกร่งในการบริหารความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทั้งจากปัจจัยภายในประเทศและภายนอกประเทศได้ดียิ่งขึ้น

 

ประธานกรรมการ PRM  กล่าวต่อไปว่า ทิศทางธุรกิจในครึ่งปีหลัง บริษัทฯมั่นใจว่าจะก้าวสู่ Growth Mode ทุกกลุ่มธุรกิจ ดันเป้าเติบโตรายได้ไม่น้อยกว่า10%จากปี 64 ปัจจัยสนับสนุนคือ

 

  • บริษัทฯ สามารถขยายฐานลูกค้าจากการให้บริการเรือ Crew Boat จำนวน 13 ลำ ด้วยอัตราการใช้บริการเต็ม 100%  จาก 6 เดือนแรกที่ 83%  
  • กลุ่มธุรกิจเรือขนส่งระหว่างประเทศ ที่บริษัทฯได้ให้บริการเรือ VLCC แก่กลุ่มไทยออยล์จำนวน 3 ลำ เป็นระยะเวลา 10 ปี จะเข้ามาสนับสนุนความมั่นคงของรายได้ในระยะยาว โดยบริษัทฯจะรับรู้รายได้เต็มงวดจากเรือ VLCC ลำที่ 2 ที่เริ่มให้บริการเดือน มิ.ย.65 , เรือ AWB ลำที่ 2 ซึ่งเริ่มให้บริการ16 มิ.ย.65 รวมถึงเรือ VLCC ลำที่ 3 ที่เริ่มให้บริการเมื่อวันที่ 9 ก.ย. เป็นต้นมา  
  • จากการขายเรือขนส่งปิโตเลียมระหว่างประเทศ(VLCC)ในไตรมาส 3/65 จำนวน 1 ลำ มูลค่าหลักพันล้านบาท ที่จะทยอยบันทึกกำไร  และ
  • การขยายโดยเฉพาะเรือขนส่งและการจัดเก็บปิโตรเลียมลอยน้ำ ( FSU) ที่กลับมาฟื้นตัว ซึ่งจะหนุนกำไรในครึ่งปีหลังโตโดดเด่นกว่าครึ่งปีแรกแน่นอน

 

“การเข้าซื้อ TM ถือเป็นการลงทุนครั้งสำคัญที่จะสร้างประโยชน์แก่การดำเนินธุรกิจของเราให้ดียิ่งขึ้น ทำให้เราสามารถรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วง Post-Covid และผลักดันบริษัทฯ ให้เข้าสู่ Growth Mode รอบใหม่ ด้วยผลการดำเนินที่เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายบวร กล่าว 
    

ด้านนายชายน้อย เผื่อนโกสุม ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ จะมุ่งรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม ด้วยจุดแข็งด้านพอร์ตกองเรือที่มีความหลากหลาย พร้อมขยายการลงทุนที่จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโต โดยการลงทุนเข้าซื้อ TM ที่ผ่านมา ทำให้บริษัทฯ สามารถผลักดันกลุ่มธุรกิจเรือขนส่งระหว่างประเทศและกลุ่มธุรกิจเรือ Offshore Support ให้สร้างรายได้เพิ่มขึ้น และสนับสนุนภาพรวมการดำเนินงานของบริษัทฯ ได้เป็นอย่างแข็งแกร่ง ขณะเดียวกัน การบริหารพอร์ตกองเรือถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ ในทุกสภาวะตลาด เพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ดีที่สุด ควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ 
    

โดยบริษัทฯ วางแผนการลงทุนครั้งใหม่โดยขยายพอร์ตกองเรือจำนวน 3 ลำ ภายใต้งบลงทุน 1,896 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • เรือขนส่งปิโตรเลียมภายในประเทศจำนวน 1 ลำ
  • เรือขนส่งปิโตรเคมี จำนวน 1 ลำ และ
  • เรือขนส่งและจัดเก็บปิโตรเลียมลอยน้ำ (FSU) เพิ่มอีก 1 ลำ

 

เนื่องจากบริษัทฯ ยังเล็งเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจในกลุ่มธุรกิจเรือขนส่งในประเทศเพื่อรองรับปริมาณการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นภายหลังจากที่สถานการณ์ Covid-19 คลี่คลายลง ในขณะที่การลงทุนเพิ่มเติมในเรือขนส่งปิโตรเคมีมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิตของโรงกลั่นทั้งในและต่างประเทศที่มุ่งเน้นไปยังการผลิตปิโตรเคมีมากขึ้น และการขยายกองเรือ FSU เพื่อรองรับอุปสงค์ในการกักเก็บและผสมน้ำมันที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น จากสภาวะเศรษฐกิจที่มีกิจกรรมมากขึ้นภายหลังการคลี่คลายของสถานการณ์ Covid-19  โดยการลงทุนดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะเริ่มรับรู้รายได้ทันทีหลังจากที่สามารถจัดหาเรือแล้วเสร็จ เนื่องจากเรือทั้ง 3 ลำมีลูกค้าที่รอใช้บริการอยู่แล้ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมการดำเนินงานของบริษัทฯ ให้เติบโตได้ตามเป้าหมาย 

    
“PRM ได้เข้าสู่ Growth Mode ตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปีนี้เป็นต้นไป เป็นผลจากการเติบโตในทุกกลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการใช้เรือที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการเตรียมส่งมอบเรือ VLCC ลำที่ 3 เพื่อให้บริการแก่ไทยออยล์ในช่วงไตรมาส 3 นี้ และเรือที่ลงทุนเพิ่มเติมอีก 3 ลำที่เตรียมจะเข้ามาให้บริการเพิ่มเติมอีกด้วย” นายชายน้อย กล่าว