LINE BK ปลื้ม ‘ที่พึ่งทางไลน์’ ดันแชร์สินเชื่อนาโนพุ่ง

21 ก.ย. 2565 | 12:03 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ย. 2565 | 19:03 น.

ซีอีโอ LINE BK ปลื้ม เพลงที่พึ่งทางไลน์ ขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น ส่งผลยอดสินเชื่อคงค้างแตะ 1.7 หมื่นล้านบาท ดันส่วนแบ่งสินเชื่อนาโนเพิ่มเป็น 4.3% มั่นใจทั้งปีทำได้ตามเป้า 2 หมื่นล้าน จ่อเปิดตัวพันธมิตรปลายปีนี้ หวังเพิ่มพอร์ตสินเชื่อนาโนมากขึ้น

หลังประกาศโครงการเดินหน้าเชิงกลยุทธ์มูลค่า 1 แสนล้านบาทพลิกโฉมธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ก้าวสู่ดิจิทัลพร้อมผงาดเป็นชาเลนเจอร์แบงก์แห่งแรกของไทย เพื่อมุ่งขยายโอกาสการเข้าถึงบริการธนาคารให้กับคนไทยและคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจเล็กๆ ที่ยังไม่เคยเข้าถึงบริการธนาคารหรืออาจเข้าถึงบริการธนาคารแล้ว แต่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพให้สามารถเข้าถึงบริหารทางการเงินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพพร้อมกับชู LINE BK เป็นเรือธงในการเข้าถึงกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มอาชีพอิสระไม่ว่าจะรายได้สูงหรือต่ำ

 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด(มหาชน)หรือ KBANK  ได้ส่งบริษัทลูกอย่างบริษัท กสิกร วิชั่น จำกัดร่วมมือกับแอปพลิเคชั่น LINE จัดตั้งบริษัท กสิกรไลน์ จำกัด หรือ “LINE BK” เพื่อให้บริการสินเชื่อบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่สามารถรู้ผลอนุมัติภายใน 24 ชั่วโมง แม้ผู้ขอสินเชื่อจะไม่มีบัญชีธนาคาร แต่ถ้ามีบัญชีเงินฝากกับธนาคาร กสิกรไทยอยู่แล้ว จะรู้ผลการอนุมัติได้ภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที ซึ่งข้อมูลล่าสุด ณ เดือนสิงหาคม 2565 LINE BK ได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้วรวม 4.5 หมื่นล้านบาทภายใต้การนำทีม โดยซีอีโอ “ธนา โพธิกำจร”

นายธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด (LINE BK) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับผลการสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อพบว่า ไตรมาส 3 ภาคครัวเรือนมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกประเภทสินเชื่อ ดังนั้นจึงมองว่า น่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปจนจบไตรมาส 4 ปีนี้

นายธนา โพธิกำจร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด (LINE BK)

 

ทั้งนี้มองว่า คนน่าจะเริ่มกลับมาใช้จ่าย ทั้งเพื่อเดินหน้าธุรกิจและเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นสินเชื่อจะยังเป็นทางออกสำหรับคนที่ต้องการเงินไปเสริมสภาพคล่องดังกล่าวเพิ่มขึ้นด้วย ส่วนกิจกรรมแคมเปญใหม่ๆ น่าจะมีให้เห็นกันอีกทีช่วงต้นปีหน้า

 

ในส่วนของ LINE BK พบว่า ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2565 ยอดการปล่อยสินเชื่อรวมตั้งแต่เปิดให้บริการ(Disbursed loan) ทั้งสิ้น 4.5 หมื่นล้านบาท โดยมียอดสินเชื่อคงค้าง(Outstanding loan) 1.9 หมื่นล้านบาท มีบัญชีสินเชื่อ LINE BK ทั้งวงเงินให้ยืมและวงเงินให้ยืมนาโน รวม 603,000 บัญชี 

 

ทั้งนี้นับจากเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 ผลตอบรับในบริการหลักๆ ของ LINE BK นั้น มีผู้ใช้บริการทั้งสิ้น 4.9 ล้านบัญชี  บัญชีเงินฝาก 5.7 ล้านบัญชี บัญชีเงินออมดอกพิเศษ 151,000 บัญชี และบัตรเดบิต 2.7 ล้านบัตร

 

“คาดว่าสิ้นปี 2565 ยอดสินเชื่อคงค้างจะเติบโตเป็นมากกว่า 2 หมื่นล้านบาทจากปัจจุบันที่มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 19,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้าทั้งปีที่คาดหวังไว้ ขณะที่สัญญาณการผิดนัดชำระหนีี้เป็นไปตามทิศทางโดยรวมของตลาด” นายธนากล่าว

LINE BK ปลื้ม ‘ที่พึ่งทางไลน์’ ดันแชร์สินเชื่อนาโนพุ่ง

สำหรับสัดส่วนลูกค้าในพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ปัจจุบันอยู่ที่ 80% ที่เหลืออีก 20% เป็นสินเชื่อนาโน ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มยังเติบโตได้ดี ซึ่งปลายปีนี้จะมีการเปิดตัวพันธมิตร(Partner) ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มสัดส่วนของสินเชื่อนาโนในพอร์ตให้มากยิ่งขึ้น ส่วนของสินเชื่อพีโลนมุ่งเน้นเข้าถึงกลุ่มลูกค้าหลากหลายกลุ่มมากขึ้น

 

นายธนากล่าวต่อว่า โจทย์ใหญ่ของ LINE BK ปีนี้คือ ต้องการสร้างการรับรู้ในตัวบริการไลน์บีเคให้กับคนกลุ่ม Mass ทั่วประเทศมากขึ้น ซึ่งรวมการเข้าถึงกลุ่ม Underbanked และ Unbanked มากขึ้นด้วย ดังนั้น LINE BK จึงได้เลือกใช้วิธีการสื่อสารผ่าน Music marketing ที่มีการทำเพลงที่พึ่งทางไลน์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงทั้งกลุ่มคน กรุงเทพและต่างจังหวัด

 

“แคมเปญดังกล่าวมีผลตอบรับดีมาก ช่วยสร้างการรับรู้ให้คนรู้จัก LINE BK มากขึ้น มียอดผู้สมัครใช้บริการสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20% และมียอดเปิดวงเงินสูงสุดในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดสินเชื่อคงค้างแตะ 17,000 ล้านบาท”นายธนากล่าว

 

นอกจากนั้นยังทำให้ LINE BK มีส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจสินเชื่อนาโนเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% ของยอดสินเชื่อคงค้างในระบบและจำนวนลูกค้าเติบโตขึ้นเป็น 6.8%  และแคมเปญดังกล่าว ยังทำให้ LINE BK สามารถขยายฐานลูกค้าในต่างจังหวัดได้มากขึ้น โดยเฉพาะในภาคอีสานที่มียอดสมัครสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุด และพอร์ตรวมลูกค้าขณะนี้เกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้มีอาชีพอิสระ

 

ทั้งนี้ LINE BK ยังมีโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มที่เข้าถึงบริการทางธนาคารแล้ว แต่ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ (Underbanked) และ กลุ่มที่ยังไม่มีบัญชีกับธนาคาร (Unbanked) จากการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนไทยมีสัดส่วน 37% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีสัดส่วน 26% เหลือประมาณ 45% เป็นกลุ่ม Underbanked และอีก 18% เป็นกลุ่ม Unbanked

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,819 วันที่ 18 - 21 กันยายน พ.ศ. 2565