แบงก์ออมสิน สานพันธกิจธนาคารเพื่อสังคมเดินหน้าแก้หนี้นอกระบบ-ยื่นขอไลเซนส์แตกไลน์ธุรกิจนอนแบงก์ รุกปล่อยสินเชื่อพีโลนผ่าน 2แอปหลัก “ MyMo -MyCredit” ดึงดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด 3-5% หวังช่วยฐานราก คาดเริ่มธุรกิจครึ่งหลังปี 2566
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารอยู่ระหว่างขออนุญาต (ไลนเซนส์) จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล(Digital Lending)หรือสินเชื่อพีโลน โดยจะจัดตั้งบริษัทให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์)ขึ้นมา
ทั้งนี้เนื่องจากสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิขของธนาคารออมสินมีข้อจำกัดที่จะในดำเนินธุรกิจดังกล่าว เช่น ข้อกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่จะต้องไม่เกินกว่า 15% ซึ่งจะสามารถรองรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ได้เพียง 8% จึงไม่เพียงพอสำหรับกลุ่มเป้าหมายดังกล่าว
นอกจากนี้ข้อกำหนดเกี่ยวกับเกณฑ์ค่าจ้างงานที่ไม่สอดคล้องกับการว่าจ้างที่ต้องใช้ในระดับสูงตามอุตสาหกรรมฟินเทค จึงจำเป็นต้องจัดตั้งบริษัทใหม่ในรูปแบบนอนแบงก์ขึ้นมาเพื่อความคล่องตัวด้วย
เบื้องต้นขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบความเป็นไปได้ในการจัดตั้งบริษัทนอนแบงก์ขึ้นมาเป็นแบรนด์ที่ 2ของธนาคารออมสิน โดยภายใต้โครงสร้างของบริษัทดังกล่าวนั้น ธนาคารออมสินให้ "บริษัทมีที่ มีเงิน จำกัด" ซึ่งเป็นบริษัทลูกถือหุ้นในสัดส่วน 51% หรือ 49% จาก100% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพันธมิตรที่จะเข้ามาถือหุ้น
สำหรับแนวทางดำเนินธุรกิจ “Digital Lending” หรือสินเชื่อพีโลนนั้น จะเน้นทำธุรกิจ 2กลุ่มหลักคือ 1.ให้บริการสินเชื่อพีโลนผ่านแอปพลิเคชั่น MyMoโดยพิจารณาจากฐานลูกค้าที่มีอยู่แล้ว 13ล้านคนคาดว่าจะเริ่มดำเนินธุรกิจได้ประมาณปลายไตรมาส 3 ปี 2566 หรือ ต้นไตรมาส 4 ปี 2566 โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำตลาด 5% จากปัจจุบันตลาดคิดดอกเบี้ยในอัตรา 25%
และ 2.สินเชื่อMyCredit อยู่ระหว่างขออนุญาตธปท.และพัฒนาแอปพลิเคชั่นให้บริการผ่านบริษัทนอนแบงก์ ที่สำคัญการให้บริการสินเชื่อMyCredit จะใช้ข้อมูลทางเลือกในการอนุมัติสินเชื่อ แทนการวิเคระห์รายได้ ซึ่งสามารถสะท้อนความสามารถในการผ่อนชำระหนี้และความตั้งใจชำระหนี้ได้ และเป็นการเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าที่ไม่เคยมีประวัติทางการเงินได้เข้าถึงสินเชื่อในระบบ
“สินเชื่อMyCredit” ตั้งเป้ากลุ่มเป้าหมายจำนวน 100,000รายวงเงิน 1,000ล้านบาท เน้นกลุ่มฐานรากทั้งผู้ประกอบอาชีพอิสระ(พ่อค้าแม่ค้า หรือรับจ้าง)และกลุ่มผู้มีรายได้ประจำ สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขนั้น กำหนดวงเงินกู้ต่อราย 10,000-30,000บาท ผ่อนชำระสูงสุดระยะเวลาไม่เกิน 2ปี คิดดอกเบี้ยอัตราไม่เกิน 1.25%ต่อเดือน ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันคาดว่าจะเปิดให้บริการประมาณครึ่งหลังของปี2566
นายวิทัยกล่าวย้ำว่า การเป็นธนาคารเพื่อสังคมของธนาคารออมสินทำให้ยึดมั่นในการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มฐานรากทั้งในแง่บุคคลธรรมดาและบุคคลที่ประกอบธุรกิจหรืออาชีพอิสระ แต่ในหลักการทำธุรกิจควรจะมีผลกำไรเพื่อนำมาหนุนซึ่งกันและกัน ดังนั้นการจัดตั้งบริษัทนอนแบงก์ขึ้นมาเพื่อที่จะดึงอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่สูงให้ต่ำลงมาเพื่อช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มฐานรากโดยไม่ได้มุ่งหวังจะทำกำไรสูงสุด
“ ปัจจุบันผู้ประกอบการให้ความสนใจธุรกิจสินเชื่อบุคคล เพราะเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ทำรายได้ดีมีกำไร แต่ธนาคารออมสินเข้ามาในตลาดนอนแบงก์ด้วยพันธกิจธนาคารเพื่อสังคมเราพยายามจะดึงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าตลาดประมาณ 3-5%ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของลูกค้า โดยเฉพาะช่วยแบ่งเบาภาระผู้กู้กลุ่มฐานรากสามารถทำรีไฟแนนซ์ได้ ซึ่งปีหน้าแบงก์ออมสินจะทำนอนแบงก์เต็มตัวเพื่อเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าที่ไม่เคยมีประวัติทางการเงินได้เข้าถึงสินเชื่อในระบบและช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ”