ธปท.ทิศทางการพัฒนาระบบการชำระเงินไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

13 พ.ย. 2565 | 10:07 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2565 | 17:22 น.

ทิศทางการพัฒนาระบบการชำระเงินไทย:ส่องอดีต ดูปัจจุบัน มองสู่อนาคตหนุน ประชาชนใช้บริการเท่าทันภัยทุจริต -ภาคธุรกิจเชื่อมการชำระเงินยกระดับการแข่งขัน ผลักดันรัฐบาลดิจิทัล ตามแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิทัล

ทิศทางการพัฒนาระบบการชำระเงินไทย: ส่องอดีต ดูปัจจุบัน มองสู่อนาคต

อรรถเวช อาภาศรีกุล

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

การเดินทางที่ประสบความสำเร็จ สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ ให้ผู้ร่วมเดินทางรู้เป้าหมายปลายทางอย่างชัดเจน เพื่อมุ่งไปสู่จุดนั้นได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ทิศทางและเป้าหมาย การพัฒนาระบบชำระเงินที่สอดคล้องกับบริบทประเทศในยุคดิจิทัล แบงก์ชาติได้เผยแพร่ใน “ทิศทางการพัฒนาระบบการชำระเงินภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย” (Payment Directional Paper) เป็นแนวทางการพัฒนาในระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2565 – 2567)

 

          เจาะลึกเส้นทางการพัฒนาในระยะ 3 ปี มีอะไรบ้าง และที่สำคัญที่สุด คือ ประเทศไทยจะได้อะไรจากการเดินทางนี้

เหลียวหลังรากฐานในอดีต เพื่อต่อยอดความสำเร็จในอนาคต

เป็นที่ทราบกันว่า “ระบบการชำระเงิน” นับเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจ เปรียบเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เดินหน้าและเติบโตด้วยความราบรื่น ตลอดช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา แบงก์ชาติได้ผลักดันการพัฒนาระบบการชำระเงินของไทย ภายใต้แผนและทิศทางการพัฒนาระบบการชำระเงินของไทยผ่านมาแล้ว 4 ฉบับ

 

          ฉบับแรกได้เริ่มขึ้นในปี 2545  การวางเป้าหมายหลักของแต่ละฉบับแตกต่างกันตามบริบทของสังคมและเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา โดยฉบับแรกมุ่งเน้นการวางโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่จำเป็น คือ การสร้างระบบกลางให้มีการชำระเงินข้ามธนาคาร

 

ฉบับที่สอง เน้นการวางรากฐานด้านกรอบกฎเกณฑ์ กฎหมาย และการกำกับดูแล ฉบับที่สาม เน้นการยกระดับประสิทธิภาพและความปลอดภัย ล่าสุดจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผลักดันการชำระเงินดิจิทัลให้เกิดการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากการตั้งเป้าหมายให้ “การชำระเงินดิจิทัลเป็นทางเลือกหลักในการชำระเงินของคนไทย”  คือ ฉบับที่สี่ ที่มีการเกิดขึ้นของระบบพร้อมเพย์ การชำระเงินผ่าน QR และการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการใช้ Mobile Banking

จุดเปลี่ยนสำคัญ กับหมุดหมายของความสำเร็จ

จุดเปลี่ยนสำคัญของการชำระเงินดิจิทัลของไทย ถือว่า “ระบบพร้อมเพย์” เป็น game changer หลัก มีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรรมการชำระเงินของคนไทยไปสู่การใช้บริการชำระเงินดิจิทัลแทนเงินสดมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

จากบริการและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน ซึ่งผู้ให้บริการต่อยอดมาจากระบบดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินง่ายและสะดวกผ่าน QR Code การบริจาคผ่าน  e-Donation และปรับการชำระเงินระระหว่างประเทศที่ซับซ้อน ราคาสูง ใช้เวลานาน ให้เป็นเรื่องง่าย สะดวก ปลอดภัย และราคาดี

 

           ความสะดวก ใช้งานง่าย ทำได้รวดเร็ว ปลอดภัยตรวจสอบได้ และมีราคาที่ถูกลง ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการจนทำให้การชำระเงินดิจิทัลของคนไทยในช่วงดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า จาก 63 ครั้งต่อคนต่อปี ในช่วงสิ้นปี 2560 เป็น 312 ครั้งต่อคนต่อปีในปี 2564 ขณะที่ยอดการชำระเงินต่อรายการลดลงอย่างต่อเนื่องสะท้อนถึงการใช้งานกับกิจกรรมในชีวิตประจำวันมากขึ้น

ธปท.ทิศทางการพัฒนาระบบการชำระเงินไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

ก้าวสำคัญที่จะเดินต่อไปในอีก 3 ปีข้างหน้า 

หนทางข้างหน้าที่จะเดินต่อจากนี้ไปตาม “ทิศทางการพัฒนาระบบการชำระเงินภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย” แบงก์ชาติยกระดับเป้าหมายต่อยอดจากฉบับที่ 4 ให้การชำระเงินดิจิทัลครอบคลุมมากขึ้น โดยได้ปักเป้าหมายไว้ คือ “การชำระเงินดิจิทัลเป็นทางเลือกหลักที่เข้าถึงผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม

 

ยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมศักยภาพ และการแข่งขันของไทย พร้อมก้าวสู่สังคมที่ใช้เงินสดน้อยลง” จึงได้กำหนดเป้าหมายที่ท้าทายให้การชำระเงินดิจิทัลเพิ่มเป็น 800 ครั้งต่อคนต่อปี ควบคู่กับการดำเนินการให้มีการลดการใช้เงินสดและเช็คกระดาษลงอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ 3 หลักการดำเนินงาน คือ

ธปท.ทิศทางการพัฒนาระบบการชำระเงินไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

 

1. Openness: การเปิดกว้างให้เกิดการใช้ประโยชน์ร่วมกัน เน้นการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่มีและที่จะพัฒนาเพิ่ม และจากข้อมูลด้านการชำระเงินมากขึ้น ในการเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งเสริมการแข่งขันและการพัฒนานวัตกรรม แผนงานที่สำคัญ

 

คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับชำระเงินดิจิทัลของภาคธุรกิจอย่างครบวงจร หรือ ระบบ PromptBiz การจัดให้มีโครงสร้างธรรมาภิบาลของระบบการชำระเงินที่รองรับ การพัฒนาฐานข้อมูลในรูปแบบใหม่ที่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์และการบูรณาการข้อมูลชำระเงินกับภาครัฐ และยังคงให้มีการต่อยอดการเชื่อมโยงบริการชำระเงินระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการค้าและการท่องเที่ยวที่ครอบคลุมมากขึ้น

 

2. Inclusivity: การเข้าถึงและเข้าใจของผู้ใช้บริการชำระเงินดิจิทัล เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการชำระเงินดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น โดยการทำงานร่วมกันระหว่างภาคการเงิน ภาครัฐ และภาคเอกชน

 

โดยเน้นการขยายบริการชำระเงินดิจิทัลที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้ใช้บริการที่หลากหลายและเป็นวงกว้าง อาทิ การชำระเงินดิจิทัลกับระบบขนส่งสาธารณะ การต่อยอดบริการที่เป็นประโยชน์จากการใช้แอปพลิเคชันภาครัฐ ควบคู่กับการบูรณาการในการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจการใช้บริการชำระเงินดิจิทัลอย่างถูกต้องและปลอดภัยให้กับประชาชนในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น

 

3. Resiliency: การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นและเท่าทัน ปรับการกำกับดูแลให้มีความยืดหยุ่นสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของระบบการชำระเงิน เทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมด้านการชำระเงิน

 

ขณะที่ยังคงสามารถดูแลความเสี่ยงใหม่ ๆ ได้อย่างเท่าทัน และการนำเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัยมาช่วยในการกำกับดูแลมากขึ้น รวมทั้งการยกระดับความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแล ผู้ให้บริการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศอย่างเกิดประสิทธิผลและต่อเนื่อง

 

ประเทศไทยจะได้อะไรจากการเดินถึงจุดหมายปลายทางในครั้งนี้

          ประชาชนจะได้รับบริการชำระเงินดิจิทัลที่ตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ภายใต้การใช้บริการอย่างมีความรู้ความเข้าใจทั้งการใช้บริการและการเท่าทันภัยทุจริต ขณะที่ภาคธุรกิจจะมีบริการชำระเงินดิจิทัลที่เชื่อมโยงกับการทำธุรกิจการค้าอย่างครบวงจร ทำให้การทำธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ประหยัดเวลา และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อได้ดีขึ้น นำไปสู่การยกระดับการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยมากยิ่งขึ้น

 

ด้านผู้ให้บริการชำระเงิน จะมีโอกาสการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมด้านการชำระเงินมากขึ้นภายใต้การแข่งขันที่เปิดกว้าง การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่น และการดูแลตนเองให้เข้มแข็งขึ้นในการดูแลความเสี่ยงใหม่ได้อย่างเท่าทันในยุคดิจิทัล ขณะเดียวกัน สนับสนุนการชำระเงินดิจิทัลของภาครัฐ ตามนโยบายการผลักดันรัฐบาลดิจิทัล ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ Thailand Digital Economy

 

          ในยุคดิจิทัล แม้มีทิศทางที่ชัดเจน แต่ระหว่างทางเดินยังคงต้องเผชิญสิ่งที่ท้าทายอีกมากมาย ความสำเร็จในการก้าวผ่านสิ่งที่ท้าทายเหล่านั้น ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากผู้ร่วมเดินทางที่พร้อมจะจับมือก้าวเดินไปด้วยกัน เพื่อการพัฒนาที่ดีขึ้นของระบบการชำระเงินไทยที่รออยู่ปลายทาง