ซิตี้แบงก์” คาดไตรมาส 3 ปี 66 ดอกเบี้ยนโยบายแตะ2.25%

02 ก.พ. 2566 | 06:38 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.พ. 2566 | 06:50 น.

ซิตี้แบงก์จับตาแนวโน้มเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงความเสี่ยงขาขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อจากด้านอุปสงค์ที่อาจจะเพิ่มขึ้นด้วย พร้อมชี้เศรษฐกิจไทยช่วง 2 ปีต่อจากนี้ ยังโต

ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ยังคงคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายทยอยปรับเป็น 2.25% ภายในไตรมาส 3 ปี 2566 ล่าสุดหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.50% ซึ่งเป็นไปเป็นตามที่ตลาดและซิตี้คาดการณ์ไว้ อันเป็นผลจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และ


ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกของธปท.ที่ลดลง รวมถึงมุมมองต่อภาคการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นภายหลังการเปิดประเทศจีน โดยธปท.ยังคงแนะให้จับตาแนวโน้มเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงความเสี่ยงขาขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อจากด้านอุปสงค์ที่อาจจะเพิ่มขึ้นด้วย

นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคาร ซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ซิตี้ ยังคงคาดการณ์ว่าธปท. จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 2.25% ในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 จากการที่โมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระหว่างปี 2566-2567 ยังอยู่ในเชิงบวก


 แม้ว่าธปท.ยังมีความกังวลหนี้ครัวเรือนและธุรกิจ SMEs แต่ธปท. ยังคงมองว่าสินเชื่อภาคเอกชนยังสามารถโตต่อได้ แม้อัตราดอกเบี้ยและต้นทุนทางการเงินปรับสูงขึ้น  ซิตี้แบงก์คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีหน้าจะเฉลี่ยที่ 2.2%

ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงจะถยอยปรับขึ้นจากระดับติดลบสู่ระดับ 0% ถือว่าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีต ทั้งนี้ ซิตี้มองว่าปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะทำให้ธปท. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายน้อยกว่าที่คาด คือ
 1. ภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจจะชะลอตัวมากกว่าที่คาดไว้เดิม และอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย และ 

2.หากเงินบาทแข็งค่ารวดเร็วเกินไป อาจทำให้ กนง.บางท่านพิจารณาการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย”

ซิตี้แบงก์มองว่า การแข็งค่าของเงินบาทล่าสุดยังไม่น่าจะเป็นปัจจัยหลักที่กนง.กังวลในระยะนี้ แม้ว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้ทำให้เกิดความกังวลถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในบางภาคส่วน อาทิ ผู้ส่งออก


 อนึ่ง อัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของนโยบายทางการเงิน  ซึ่งประกอบไปด้วยการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ เสถียรภาพด้านราคา และเสถียรภาพระบบการเงิน