สศช. เปิด 4สาเหตุ ไทยยังไม่ได้ใช้ “ภาษีเงินได้”เป็นเครื่องมือสร้างรายได้ให้แก่รัฐและจัดสรรทรัพยากรเพื่อนำมากระจายใหม่ แนะ 4แนวทางรายได้เพิ่มและมีความมั่นคงทางการคลัง -รับมือการใช้จ่ายภาครัฐจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เป็น 6.5 ล้านล้านบาท ในปี 2585
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)หรือสภาพัฒน์ ได้เผยแพร่บทความเรื่อง “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : แหล่งรายได้รัฐ และเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ” โดยระบุว่า
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นรายได้และเครื่องมือสำคัญที่ช่วยจัดสรรทรัพยากรของคนในสังคมให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น อันจะนำไปสู่การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในที่สุด โดยในปี 2564 รัฐบาลมีรายได้รวม 2.8 ล้านล้านบาท โดยรายได้จากภาษีคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 88.5 ของรายได้รัฐทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีแนวโน้มขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 4.1 หมื่นล้านบาท ในปีงบประมาณ 2546 เป็น 6.5 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2565 และการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จาก 3 ล้านล้านบาท ในปี 2566 เป็น 6.5 ล้านล้านบาท ในปี 2585
สำหรับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า ในปี 2564 มีสัดส่วนร้อยละ 13.2 ของรายได้จากภาษีทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 337,779 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีมูลค่า 301,159ล้านบาท
หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.6 ต่อปีโดยมีผู้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งสิ้น 10.8 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้มีเงินได้สุทธิ (มีเงินได้เหลือหลังหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน และบริจาค) ที่ต้องเสียภาษีเพียง 4.2 ล้านคนเท่านั้น
รายได้จากภาษีเงินได้ฯมีสัดส่วน13.7%
สำหรับบทบาทในการเป็นแหล่งรายได้พบว่า ในช่วงปี 2556 - 2564 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อรายได้จากภาษีทั้งหมดที่รัฐจัดเก็บ มีสัดส่วนอยู่ระหว่างร้อยละ 12.2 – 13.7 และหรือประมาณร้อยละ 2.09 ของ GDP ขณะที่ในการลดความเหลื่อมล้ำ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีส่วนช่วยให้ความเหลื่อมล้ำลดลงได้ตลอดช่วงปี 2513 – 2558 แต่ยังมีข้อจำกัด
เนื่องจากภาพรวมอัตราภาษีมีลักษณะที่ก้าวหน้าน้อยกว่าหลายประเทศชี้ให้เห็นว่าที่ผ่านมาภาษีเงินได้ของไทยยังไม่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ให้แก่รัฐและจัดสรรทรัพยากรเพื่อนำมากระจายใหม่(redistribution)ได้มากนัก
4สาเหตุสำคัญ มีดังนี้
1.แรงงานไทยเกือบ 3 ใน 4 อยู่นอกระบบภาษี โดยมีผู้มีงานทำทั้งสิ้น 38.8 ล้านคนเป็นลูกจ้างที่มีรายได้จากค่าจ้างและเงินเดือนจำนวน 18.6 ล้านคน แต่มีผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องยื่นภาษีของกรมสรรพากรเพียง 10.8 ล้านคนเท่านั้น คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 27.7 ของผู้มีงานทำทั้งหมด อีกทั้งสัดส่วนดังกล่าวยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น
2. ประเภทของเงินได้ที่ไม่ต้องเสียภาษีทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้ไม่เต็มที่และเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยมีเงินได้บางประเภทที่ได้รับการยกเว้นภาษีแต่กลับเป็นแหล่งรายได้ที่มีมูลค่าสูง และสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้มีเงินได้ได้มาก โดยเฉพาะกำไรจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และ
3. การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนทำให้รัฐสูญเสียรายได้และสร้างความเหลื่อมล้ำ โดยกลุ่มผู้มีรายได้สูงมีแนวโน้มที่จะจ่ายภาษีลดลงจากการได้รับประโยชน์จากการหักค่าใช้จ่ายที่มากกว่าคนกลุ่มอื่น ๆ
ในขณะที่ปี2564 การลดหย่อนภาษียังทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไปกว่า 1.1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 51.8 ของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องชำระทั้งหมด
ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงควรมีการดำเนินการ ดังนี้
1) มีมาตรการในการนำคนทุกกลุ่มเข้ามาอยู่ในระบบภาษี โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยต้องมีการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นข้อจำกัดในการเข้าระบบภาษีของคนบางกลุ่ม
2) ทบทวนการยกเว้นภาษีให้แก่รายได้บางประเภท โดยพิจารณาถึงความจำเป็นทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและไม่เป็นการเอื้อประโยชน์กลุ่มคนเพียงบางกลุ่ม
3) ทบทวนสิทธิประโยชน์การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน โดยจะต้องมีการพิจารณาทบทวนเกณฑ์การหักค่าใช้จ่ายและอัตราลดหย่อนให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น โดยที่ยังสามารถช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนได้และไม่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้มากเกินจำเป็น และ
4) สื่อสารให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการจ่ายภาษีโดยการกำหนดนโยบายต่าง ๆของรัฐบาลจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจากการใช้งบประมาณเพื่อการส่งเสริมคุณภาพ ชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการจ่ายภาษี อันจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและมีความมั่นคงทางการคลังตามมา