ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 23พ.ค.2566ที่ระดับ 34.45 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่าลงเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.43 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามจังหวะการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ รวมถึงโฟลว์ซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว
เราคงมองว่า ในระยะสั้น โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีอยู่ ท่ามกลางปัจจัยกดดันทั้งจากภายในประเทศอย่างความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติยังไม่เพิ่มสถานะถือครองสินทรัพย์ไทย (ล่าสุดนักลงทุนต่างชาติยังคงเทขายทั้งหุ้นและบอนด์รวมกันราว 1 หมื่นล้านบาทในวันก่อน)
อย่างไรก็ดี ปัจจัยภายนอก อย่างทิศทางเงินดอลลาร์ก็เริ่มเคลื่อนไหว sideways จนกว่าจะมีความชัดเจนของการเจรจาขยายเพดานหนี้ ซึ่งเรามองว่า หากตลาดยังคงกังวลปัญหาการเจรจาขยายเพดานหนี้ ก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้บ้าง ทว่า หากการเจรจาขยายเพดานหนี้ประสบความสำเร็จ ทำให้ตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น เงินดอลลาร์ก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในตลาดค่าเงิน โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดทยอยรับรู้รายงานดัชนี PMI ของบรรดาเศรษฐกิจหลัก โดยเรามองว่า หากรายงานดัชนี PMI ของประเทศอื่นๆ ออกมาดีกว่าคาดและ
มีทิศทางที่ดีกว่าของฝั่งสหรัฐฯ ก็อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้บ้าง ในทางกลับกัน รายงานดัชนี PMI ของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด และโดยรวมดีกว่าบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลัก ก็อาจยังคงหนุนการแข็งค่าต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ได้
อนึ่ง เราประเมินโซนแนวต้านของเงินบาทไม่น่าจะเกิน 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์ในระยะสั้นนี้ เพราะผู้เล่นในตลาดก็ต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว หรือบางส่วนก็รอจังหวะเพิ่มสถานะ Long THB เช่นกัน ส่วนแนวรับค่าเงินบาทในช่วงนี้อาจอยู่ในโซน 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติที่ชัดเจน
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ (ประเด็นขยายเพดานหนี้) และการเมืองไทย ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.30-34.55 บาท/ดอลลาร์
ความกังวลต่อแนวโน้มการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ทำให้ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงมีท่าทีระมัดระวังตัวและไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังเผชิญแรงกดดันจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนที่ออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ส่งผลให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นเพียง +0.02%
ทางด้านตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง +0.01% เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจับตาความคืบหน้าการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังคงได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มยานยนต์ (Porsche +1.7%)
หลังผลประกอบการและคาดการณ์ผลประกอบการของหุ้นกลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงานบ้าง (Equinor -0.7%) หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มลดความสนใจต่อหุ้นกลุ่มพลังงานลง สอดคล้องกับคาดการณ์ผลกำไรที่ถูกปรับลดลงต่อเนื่อง
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก แต่ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งยังคงออกมาสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัว ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง สู่ระดับ 3.71%
เรามองว่า แม้โมเมนตัมการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังพอมีอยู่บ้าง แต่การปรับตัวขึ้นอาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ยังคงรอจังหวะในการเพิ่มสถานะถือครองบอนด์ (รอ Buy on Dip)
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตอบรับมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนที่ออกมาสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อของเฟด อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์เริ่มถูกจำกัดลง
เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มการเจรจาขยายเพดานหนี้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจเน้นขายทำกำไร ในจังหวะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 103.2 จุด ส่วนในฝั่งราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และ
บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงกดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน มิ.ย.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,972 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยเรามองว่าการปรับฐานของราคาทองคำ อาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
สำหรับวันนี้ ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (S&P Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนพฤษภาคม
โดยในฝั่งสหรัฐฯ บรรดานักวิเคราะห์ต่างคาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะยังคงได้แรงหนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ โดยดัชนี PMI ภาคการบริการอาจอยู่ที่ระดับ 52.5 จุด (ดัชนีสูงกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) ซึ่งภาคการบริการของสหรัฐฯ ก็ยังคงได้รับอานิสงส์จากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและตึงตัวอยู่
ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดมองว่า เศรษฐกิจยูโรโซนอาจเริ่มเผชิญผลกระทบจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาจยังคงหดตัวต่อเนื่อง ชี้จากดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนพฤษภาคมที่ระดับ 46 จุด
อย่างไรก็ดี การขยายตัวของภาคการบริการ ซึ่งสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการบริการที่ระดับ 55.5 จุด จะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยประคองเศรษฐกิจยูโรโซน เช่นเดียวกันกับในฝั่งอังกฤษ การขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการ (ดัชนี PMI ภาคการบริการ อาจอยู่ที่ระดับ 55.5 จุด) ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจอังกฤษเช่นกัน
และในฝั่งเอเชีย ตลาดคาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวที่ดีขึ้น หนุนโดยการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการบริการสะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการบริการในเดือนพฤษภาคมที่ระดับ 55.7 จุด ขณะที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นอาจยังคงหดตัวต่อเนื่อง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจต่ำกว่าระดับ 50 จุด
นอกเหนือจากรายงานข้อมูลดัชนี PMI ของบรรดาเศรษฐกิจหลัก ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาความคืบหน้าของการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางหลัก ทั้ง เฟด, ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนว 34.60 ไปแตะระดับ 34.62 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือน ก่อนจะกลับมาปรับตัวอยู่ที่ระดับ 34.58 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ (9.40 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดของวันทำการก่อนหน้าที่ 34.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ
โดยการอ่อนค่าของเงินบาทยังคงสอดคล้องกับสัญญาณขายสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก ซึ่งสวนทางกับเงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้นรับท่าทีเชิงคุมเข้มของเจ้าหน้าที่เฟด และความคืบหน้าในเชิงบวกของการเจรจาเพิ่มเพดานหนี้ระหว่างประธานาธิบดี โจ ไบเดน และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ (แม้ ณ ตอนนี้ จะยังไม่ได้ข้อสรุปก็ตาม)
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 34.35-34.65 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาดรอติดตามปัจจัยทางการเมืองของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ผลการเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ตัวเลขยอดขายบ้านใหม่เดือนเม.ย. ของสหรัฐฯ และข้อมูล PMI ขั้นต้นสำหรับเดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ ยูโรโซน และอังกฤษ